โยคะคืออะไร?

คำว่าโยคะหมายถึง “ความเป็นหนึ่งเดียวกัน” ระหว่างจิตปัญเจกหรือวิญญาณกับจิตจักรวาลหรือบรมวิญญาณ ในปัจจุบันโยคะมีหลายสาขา และมักปฏิบัติกันแค่อิริยาบถร่างกาย แต่การปฏิบัติโยคะอย่างลึกซึ้งมุ่งหมายรวมปัจเจกวิญญาณกับอนันตภาวะ

ท่านสอนโยคะประเภทใด?

ท่านปรมหังสา โยคานันทะ สอนวิถี of ราชโยคะ รวมไว้ซึ่งการปฏิบัติสมาธิอย่างเป็นวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะ—รู้จักกันในนาม กริยาโยคะ — ที่ช่วยบุคคลตั้งแต่เริ่มความพยายามปฏิบัติให้เห็นเป้าหมายอันประเสริฐ—การรวมวิญญาณกับบรมวิญญาณเป็นหนึ่งเดียวกัน วิถีกริยาโยคะยังได้รวมปรัชญาและวิถีชีวิตไว้อย่างบริบูรณ์ ด้วยการปฏิบัติกริยาโยคะบุคคลสามารถทำให้กระบวนการของร่างกายและจิตใจสงบ จิตพ้นจากความจำกัด หยั่งรู้ถึงความปีติและการมีอยู่ทุกหนแห่งของพระเจ้า

คำสอนของเอสอาร์เอฟรวมการปฏิบัติหัฐโยคอาสนะหรือไม่?

แม้บทเรียนเอสอาร์เอฟ ไม่ได้รวมการสอนท่าอาสนะของหฐโยคะ แต่ท่านปรมหังสา โยคานันทะสนับสนุนให้ปฏิบัติเพราะมีประโยชน์มาก

ข้าพเจ้าจะเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับกริยาโยคะและคำสอนของปรมหังสา โยคานันทะได้อย่างไร?

ถ้าท่านยังไม่เคยอ่าน เราแนะนำให้อ่านเอกสารแจกฟรี ค้นหาศักยภาพอันไพศาลในวิญญาณของท่าน และ อัตชีวประวัติของโยคี ผลงานคลาสสิกด้านมิติธรรมของท่านปรมหังสา โยคานันทะ หากท่านสนใจศึกษาคำสอนของท่านโยคานันทะ เชิญสมัครรับ บทเรียนเอสอาร์เอฟ

บทเรียนเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพมีเรื่องราวเกี่ยวกับอะไรบ้าง?

บทเรียนเอสอาร์เอฟ เป็นชุดบทเรียนเชิงลึกเพื่อการศึกษาที่บ้าน เสนอคำสอนของท่านปรมหังสา โยคานันทะถึงวิธีปฏิบัติโยคสมาธิอย่างเป็นขั้นเป็นตอน รวมถึง กริยาโยคสมาธิศาสตร์ ตลอดจนเรื่องราวมากมายในคำสอนว่าด้วย “วิธีใช้ชีวิต”

ข้าพเจ้าจะหยั่งเห็นเป้าหมายทางธรรมได้อย่างไรในเมื่อต้องรับผิดชอบกับชีวิตในโลกตลอดเวลา?

ท่านปรมหังสา โยคานันทะเข้าใจดีถึงสิ่งที่ท้าทายผู้คนที่ต้องใช้เวลามากมายกับหน้าที่ที่รับผิดชอบ ท่านสอนวิถีการดำเนินชีวิตอย่างมีดุลยภาพ ซึ่งรวมการปฏิบัติสมาธิกับการกระทำการงานอย่างถูกต้องไว้ด้วยกัน ท่านจะพบว่าคำสอนของท่านอาจารย์สามารถปฏิบัติได้ ให้คำแนะนำหลายๆ เรื่องอย่างดียิ่งเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน รวมทั้งความรับผิดชอบต่อครอบครัวและการงาน เหนืออื่นใด คำสอนเหล่านี้ชี้ถึงวิธีนำพระเจ้า—และการเชื่อมโยงกับพระองค์ด้วยความปีติเบิกบาน—เข้ามาในทุกกิจกรรมของท่าน จะช่วยได้มากถ้าท่านจัดเวลาเป็นพิเศษในแต่ละวันเพื่อปฏิบัติตามวิถีธรรมของเอสอาร์เอฟ ซึ่งใช่แค่เรื่องของระยะเวลาเท่านั้น แต่ท่านต้องจริงใจและพยายามปฏิบัติอย่างลุ่มลึก ท่านจึงจะสามารถเชื่อมโยงกับพระเจ้าภายในตัวท่านได้

ข้าพเจ้ารู้ได้อย่างไรว่ากำลังก้าวหน้าทางธรรม?

การพัฒนาทางธรรมเป็นกระบวนการค่อยเป็นค่อยไป ข้อบ่งชี้ที่ทำให้มั่นใจได้คือการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่เกิดขึ้นในตัวเรา: รู้สึกสบายมั่นใจปลอดภัย สงบ เบิกบาน มีความเข้าใจลึกซึ้งขึ้น ละทิ้งนิสัยเลวๆ ได้ รักและปรารถนาพระเจ้ามากขึ้นเรื่อยๆ ท่านปรมหังสา โยคานันทะกล่าวว่า ความเพียรเช่นนั้นเป็นมนต์อัศจรรย์ดลบันดาลความสำเร็จทางธรรม บางครั้งผู้ที่ก้าวหน้าไปไกลแต่ไม่มี “หลักฐาน”ประสบการณ์ทางมิติธรรม หรือถึงมีก็น้อย ข้อเท็จจริงก็คือ บ่อยๆ ที่เรามุ่งมั่นพยายามด้านธรรมะ หรือเผชิญความท้าทายในชีวิตประจำวันอย่างกล้าหาญ นั่นคือเรากำลังก้าวหน้าอย่างยิ่ง—แม้เราไม่รู้แน่ชัดว่าพระเจ้าทรงตอบรับเราแล้ว ความก้าวหน้าแท้จริงสะท้อนในพฤติกรรมประจำวัน ในความคิดและการกระทำที่เห็นได้หรือประสบการณ์อื่นๆ

ข้าพเจ้าสามารถศึกษาวิถีธรรมและวิธีปฏิบัติอื่นๆ ได้หรือไม่ขณะปฏิบัติบนวิถีของเอสอาร์เอฟ?

ท่านปรมหังสา โยคานันทะ ยินดีต้อนรับบุคคลจากทุกศรัทธามาเป็นนักเรียนศึกษาคำสอนของท่าน ท่านอธิบายว่า ผลของการปฏิบัติโยคศาสตร์ที่ท่านสอนไม่ได้เกิดจากการรับระบบความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง หากแต่ได้จากการมีประสบการณ์ตรงกับพระเจ้า แต่การประสมประสานวิธีปฏิบัติจากวิถีอื่นๆ อาจทำให้ไม่ได้ผลเต็มที่ การแน่วแน่ปฏิบัติคำสอนแห่งวิถีหนึ่งเดียวจะนำท่านไปถึงเป้าหมายทางธรรมได้รวดเร็วที่สุด

ท่านเปิดชั้นสอนการปฏิบัติสมาธิด้วยหรือไม่?

เราแนะนำให้ศึกษาการปฏิบัติสมาธิด้วยการสมัครรับบทเรียนเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพชุดศึกษาด้วยตนเองอย่างลุ่มลึกนี้รวบรวมการสอน โดย ท่านปรมหังสา โยคานันทะขณะท่านยังมีชีวิต บทเรียนเอสอาร์เอฟให้รายละเอียดคำสอนของท่านเกี่ยวกับกริยาโยคสมาธิศาสตร์อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ตลอดจนเรื่องราวมากมายในคำสอนว่าด้วย “วิธีใช้ชีวิต”

ข้าพเจ้ารับกริยาโยคะได้เมื่อใด?

ผู้ศึกษาชุดบทเรียนพื้นฐานของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ สามารถสมัครรับกริยาโยคะ การส่งรายงานส่วนตน (รวมอยู่ในบทเรียนที่ 17) ไปถึงศูนย์แม่ของเอสอาร์เอฟ (ผู้ศึกษาบทเรียนฉบับพิมพ์ครั้งก่อนๆ และได้ผ่านขั้นตอนที่หนึ่งและที่สอง—ในบทเรียนที่ 52 ในชุดนั้น— ก็มีสิทธิ์สมัครได้)

การที่บุคคลจะก้าวหน้าทางธรรมได้จำเป็นต้องมีคุรุที่ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่?

ท่านปรมหังสา โยคานันทะอธิบายว่า คุรุที่แท้ทั้งหลายยังมีชีวิต ไม่ว่าจะอยู่ในร่างกายนี้หรือไม่ ท่านกล่าวว่า “จิตของท่านเหล่านั้นปรับเข้ากับจิตของศิษย์ ไม่ว่าจะอยู่ในโลกเดียวกันนี้หรือไม่ คุณสมบัติและการสำแดงที่สำคัญอย่างหนึ่งของคุรุที่แท้คือการสถิตอยู่ทุกหนแห่ง” ท่านปรมหังสา โยคานันทะเองนั้น ท่านยังช่วยเหลือและประสาทพรให้ทุกคนที่มารับคำสอนธรรมะของท่าน

มีผู้ใดเป็นทายาทธรรมของท่านปรมหังสา โยคานันทะ ในสายคุรุแห่งเอสอาร์เอฟหรือไม่?

ก่อนปรมหังสาจีละสังขาร ท่านชี้แจงว่าพระเจ้าประสงค์ให้ท่านเป็นคุรุคนสุดท้ายในสายคุรุแห่งเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ ท่านกล่าวว่า “เมื่อข้าพเจ้าจากไปแล้ว คำสอนจะเป็นคุรุ ด้วยคำสอนนี้ท่านทั้งหลายจะปรับเข้ากับข้าพเจ้าและปรมคุรุผู้ส่งข้าพเจ้ามา” ฉะนั้น ตามคำสั่งเสียของท่านปรมหังสา โยคานันทะ ศิษย์รุ่นต่อๆ มาไม่อยู่ในฐานะหรือตำแหน่งคุรุ โองการแห่งพระเจ้านี้ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ในประวัติศาสตร์ศาสนา หลังจากคุรุนานัค มหามุนีผู้ก่อตั้งศาสนาซิกข์ในอินเดียละสังขาร ยังมีคุรุสืบสายต่อมาตามปกติ แต่คุรุท่านที่สิบในสายธรรมนั้นประกาศว่า ท่านเป็นคนสุดท้ายในสายคุรุ จากนี้ไปคำสอนจะเป็นคุรุ ปรมหังสาจีได้ให้ความมั่นใจว่า ท่านจะยังทำงานต่อไปผ่านสมาคมที่ท่านก่อตั้ง นั่นคือ เซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ/สมาคมโยโคทะสัตสังคะ แห่งอินเดีย

ปัจจุบันใครเป็นผู้นำของเอสอาร์เอฟ/วายเอสเอส?

ประธานและผู้นำทางธรรมท่านปัจจุบันของเอสอาร์เอฟ/วายเอสเอสคือภราดาจิทานันทะ ท่านเป็นนักบวชในเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพมานานสี่สิบปี ก่อนศรีทยมาตาอดีตประธานเอสอาร์เอฟถึงแก่กรรมเมื่อปี 2010 ท่านได้แสดงความจำนงต่อศรีมฤนลินีมาตา ว่าภราดาจิทานันทะควรดำรงตำแหน่งประธานและผู้นำทางธรรมแห่งเอสอาร์เอฟ/วายเอสเอสต่อจากศรีมฤนลินีมาตา และศรีมฤนลินีมาตาได้ยืนยันคำสั่งเสียนี้ไม่กี่เดือนก่อนท่านถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2017 ท่านได้แจ้งแก่คณะกรรมการอำนวยการว่าท่านเห็นด้วยกับคำแนะนำของท่านศรีทยมาตา คณะกรรมการอำนวยการได้แต่งตั้งภราดาจิทานันทะเข้าสู่ตำแหน่งนี้เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2017

ตราดอกบัวของเอสอาร์เอฟ/วายเอสเอสมีความหมายอย่างไร?

ตราสัญลักษณ์ของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ/สมาคมโยโคทะสัตสังคะ แห่งอินเดีย คือตาธรรม เป็นรูปดาวสีขาวล้อมรอบด้วยวงสีน้ำเงินกับแสงสีทอง ณ จุดกึ่งกลางระหว่างคิ้ว กลางดอกบัวสีทอง ซึ่งหมายถึงเป้าหมายของผู้ปฏิบัติสมาธิที่ต้องเปิดตาการเห็นพระเจ้า เช่นเดียวกับที่ดอกบัวบานเป็นสัญลักษณ์เก่าแก่ของจิตที่ตื่นรู้แห่งธรรม