Back to Schedule
Donate

    สายธรรม

    คำสอนของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ/สมาคมโยโคทะสัตสังคะ แห่งอินเดียได้จากคำสอนดั้งเดิมของศาสนาคริสต์ โดย พระเยซูคริสต์ และคำสอนดั้งเดิมของภควานกฤษณะ สายธรรมของเอสอาร์เอฟ/วายเอสเอสประกอบด้วยมหาวตารทั้งสองพระองค์กับเหล่าคุรุที่สืบสายมาถึงยุคปัจจุบัน: มหาวตารบาบาจี, ลาหิริ มหัสยะ, สวามีศรียุกเตศวร, และปรมหังสา โยคานันทะ (คุรุท่านสุดท้ายในสายคุรุแห่งเอสอาร์เอฟ/วายเอสเอส)

    มหาคุรุแต่ละท่านเหล่านี้มีบทบาทสำคัญต่อพันธกิจของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ ในการนำกริยาโยคะ ศาสตร์แห่งจิต-วิญญาณอันเป็นวิทยาศาสตร์มาสู่โลกยุคใหม่

    การถ่ายทอดอาภรณ์แห่งธรรมจากคุรุสู่ศิษย์ เพื่อสืบทอดสายธรรมที่คุรุสังกัด เรียกว่า คุรุ-ปรมปร ดังนั้น คุรุสายตรงของปรมหังสา โยคานันทะ คือ มหาวตารบาบาจี, ลาหิริ มหัสยะ และ สวามีศรียุกเตศวร

    สมาชิกทุกคนของ เซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ (ทั้งนักบวชและฆราวาส) ผู้รับการประสิทธิ์ประสาทกริยาโยคะอันศักดิ์สิทธิ์ล้วนเป็นศิษย์ของท่านปรมหังสา โยคานันทะ ซึ่งให้ความรักเคารพและเสื่อมใสท่านว่าเป็นคุรุของตน และสายธรรมคุรุของท่านย่อมได้รับความเคารพจากศิษย์เอสอาร์เอฟด้วยเช่นกัน

    SRF-Lineage-Gurus.jpg#asset:6185

    พระเยซูคริสต์

    เป้าหมายสำคัญในพันธกิจของท่านปรมหังสา โยคานันทะ คือ “เปิดเผยความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวระหว่างคำสอนดั้งเดิมของศาสนาคริสต์ตามที่พระเยซูคริสต์ทรงเผยแผ่ กับ โยคะดั้งเดิมที่สอนโดยภควานกฤษณะ และแสดงให้เห็นว่าหลักสัจธรรมเหล่านี้เป็นรากฐานทางวิทยาศาสตร์ของศาสนาแท้จริงทั้งหลาย”

    เมื่อทรงสอนสาธารณะชนส่วนใหญ่ พระเยซูทรงสอนปรัชญาง่ายๆ เกี่ยวกับ ศรัทธา ความรัก และการให้อภัย พระองค์มักกล่าวเป็นอุปมาอุปมัย เต็มไปด้วยความหมายแห่งศีลธรรมข้ามกาลเวลาไว้ด้วย แต่เมื่อสอนศิษย์ใกล้ชิด พระองค์ทรงสอนสัจจะที่ลึกซึ้ง ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเหนือมิติลึกซึ้งของปรัชญาโยคะโบราณที่มีมาแต่กาลสมัย.

    เมื่อพระสาวกทูลถามพระเยซูว่า “ทำไมพระองค์ตรัสกับพวกเขาเป็นอุปมา” พระองค์ทรงตอบว่า “ข้อความลึกลับแห่งแผ่นดินสวรรค์ โปรดให้พวกท่านได้รู้ แต่คนเหล่านั้นไม่โปรดให้รู้...เพราะเหตุนี้ เราจึงกล่าวกับเขาทั้งหลายเป็นอุปมา เพราะว่าถึงเขาเห็นก็เหมือนไม่เห็น ถึงได้ยินก็เหมือนไม่ได้ยิน และไม่เข้าใจ” (มัทธิว 13:10, 11, 13)

    การจะเข้าใจคำสอนดั้งเดิมของพระเยซูได้ทั้งหมด—รวมทั้งข้อเท็จจริงที่พระองค์ทรงสอนวิธีปฏิบัติโยคสมาธิอันเร้นลับแก่เหล่าสาวก —นั้น ท่านปรมหังสา โยคานันทะ ได้เปิดเผยไว้ในอรรถาธิบายพระวรสาร: การเสด็จครั้งที่สองของพระคริสต์: ฟื้นคืนพระคริสต์ในตัวท่าน ซึ่งท่านโยคานันทะได้กล่าวไว้ในคำนำหนังสือเล่มนั้นว่า:

    “พระเยซูคริสต์ยังทรงพระชนม์และทำหน้าที่อย่างแข็งขันแม้ทุกวันนี้ ทรงทำงานอย่างไม่มีใครเห็นเพื่อรังสรรค์โลก ทั้งในบรมวิญญาณและบางครั้งทรงสำแดงในกายเนื้อ ด้วยความรักอันไพศาล พระองค์จึงไม่พอพระทัยแค่เสวยทิพยจิตในสวรรค์ ทรงห่วงใยชาวโลก ปรารถนาจะประทานวิธีเข้าถึงอิสรภาพอันยิ่งสู่อาณาจักรแห่งพระเจ้าอันไพศาลแก่ผู้เลื่อมใสศรัทธา พระองค์ทรงผิดหวัง เพราะโบสถ์วิหารมากมายที่ก่อตั้งในนามของพระองค์ มักมั่งคั่งทรงอำนาจ แต่ขาดการรวมกับ พระเจ้า—สื่อสารกับพระเจ้าโดยตรง อย่างที่พระองค์ทรงเน้นย้ำ เหนืออื่นใด พระเยซูประสงค์ให้สถาปนาโบสถ์ไว้ในวิญญาณของมนุษย์ ต่อจากนั้นจึงสร้างสถานเพื่อการบูชาภายนอก แต่กลายเป็นว่า มีสิ่งก่อสร้างใหญ่โตโอฬารนับไม่ถ้วน และผู้คนมหาศาลที่มาประชุมร่วมกันถูกศาสนจักรฝังหัว แต่น้อยคนนักที่จะสนิทสัมพันธ์กับพระคริสต์อย่างแท้จริงด้วยการสวดอธิษฐานและทำสมาธิอย่างลึกซึ้ง

    “มหาวตารบาบาจีส่งข้าพเจ้ามาสู่โลกตะวันตก ก็เพื่อสถาปนาพระเจ้าในวิหารแห่งวิญญาณขึ้นมา

    ใหม่ ด้วยการฟื้นฟูคำสอนดั้งเดิม ว่าด้วยการสื่อสารกับพระเจ้าตามที่พระคริสต์และภควานกฤษณะได้ทรงเปิดเผย...

    “ท่านบาบาจีสื่อกับพระคริสต์อยู่เสมอ ท่านทั้งสองต่างแผ่กระแสจิตเพื่อไถ่กู้วิญญาณ และออกแบบปฏิบัติเพื่อการชำระวิญญาณให้แก่โลกยุคนี้”

    flower

    ภควานกฤษณะ

    ภควานกฤษณะทรงพระชนม์อยู่หลายศตวรรษก่อนพระคริสต์ ชาวอินเดียเลื่อมใสศรัทธาพระองค์ในฐานะองค์อวตาร (อวตารแห่งพระเจ้า) ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติชีวิตพระกฤษณะถูกถักทอร้อยเรียงจากเทพนิยายและตำนานอันวกวน.

    คำสอนสุดเลิศล้ำของภควานกฤษณะประมวลไว้ในภควัทคีตา ซึ่งท่านปรมหังสา โยคานันทะได้เขียนไว้ในอรรถาธิบาย คีตา สองเล่มชุดสุดโด่งดังว่า:

    “ภควัทคีตาเป็นคัมภีร์ที่ชาวอินเดียรักมากที่สุด เป็นคัมภีร์แห่งคัมภีร์ทั้งหลาย เป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์หรือไบเบิลของศาสนาฮินดู เป็นหนังสือเล่มที่ครูบาอาจารย์ทั้งหลายต้องพึ่งพาอาศัยในฐานะแม่บทของคัมภีร์ที่มีความน่าเชื่อถือ...

    “คีตาเป็นแนวนำทางด้านวิถีธรรม ที่มีความคลอบคลุมและเข้าใจได้ง่าย จึงได้รับยกย่องว่าเป็นหัวใจหรือสาระของคัมภีร์พระเวททั้งสี่, อุปนิษัท 108, และระบบปรัชญาทั้งหกของฮินดู...ความรู้ทั้งปวงเกี่ยวกับจักรวาลรวมกันอยู่ในคีตาซึ่งมีความลึกซึ้งอย่างยิ่ง และเผยแสดงด้วยภาษาที่เรียบง่าย ไพเราะ งดงาม และให้การปลอบโยน คีตาจึงเป็นที่เข้าใจและนำไปใช้ในทุกระดับของความพยายามที่จะต่อสู้ทางจิตและวิญญาณ—เป็นที่พักพิงของมนุษย์มากมายมหาศาลที่มีธรรมชาติและความต้องการที่แตกต่างกัน เมื่อเราอยู่บนเส้นทางกลับสู่พระเจ้า คีตาจะส่องแสงสว่างให้แก่การเดินทางนั้น...

    “พระกฤษณะทรงเป็นทิพยต้นแบบโยคะในโลกตะวันออก พระเจ้าทรงเลือกพระเยซูเป็นต้นแบบการหลอมรวมกับพระเจ้าสำหรับโลกตะวันตก...วิธีปฏิบัติกริยาโยคะที่ภควานกฤษณะทรงสอนให้แก่อรชุน ได้กล่าวไว้ในคีตาบทที่ 4:29 และ บทที่ 5:27-28 ถือเป็นที่สุดแห่งโยคสมาธิศาสตร์อันพิสูจน์ได้แห่งธรรม โยคะที่ไม่อาจทำลายนี้ที่ถูกปกปิดในยุควัตถุ ได้รับการฟื้นฟูเพื่อมนุษย์ยุคใหม่โดยมหาวตารบาบาจี และท่านได้ถ่ายทอดให้แก่เหล่าคุรุแห่ง เซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ/โยโคทะสัตสังคะ แห่งอินเดีย

    flower

    มหาวตารบาบาจี

    ไม่มีบันทึกประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงกำเนิดและชีวิตของมหาวตารบาบาจี ท่านปรมหังสา โยคานันทะได้เขียนไว้ใน อัตชีวประวัติของโยคี ว่าองค์อวตารไร้ความตายนี้มีชีวิตอยู่ในเขตเทือกเขาหิมาลัยห่างไกลในอินเดีย มาตั้งแต่เมื่อใดไม่มีใครบอกได้ นานๆ ทีท่านจึงจะเผยตนให้แก่คนจำนวนน้อยที่ได้รับพร

    มหาวตารบาบาจีเป็นผู้ฟื้นฟูกริยาโยคสมาธิศาสตร์ที่สูญหายให้กลับมาในยุคนี้ ตอนที่บาบาจีประสิทธิ์ประสาทกริยาโยคะให้แก่ลาหิริ มหัสยะ ศิษย์ของท่าน ท่านได้กล่าวว่า “กริยาโยคะที่เรามอบแก่โลกผ่านเจ้าในศตวรรษที่สิบเก้านี้ เป็นการฟื้นคืนศาสตร์ที่ภควานกฤษณะทรงมอบแก่อรชุนเมื่อหลายพันปีก่อน ซึ่งปตัญชลี กับพระคริสต์รู้ในเวลาต่อมา และทรงสอนนักบุญยอห์น นักบุญเปโตรและสาวกท่านอื่นๆ”

    ไม่นาน ก่อนปรมหังสา โยคานันทะเดินทางไปอเมริกาในปี 1920 มหาวตารบาบาจีได้มาที่บ้านบิดาของปรมหังสา โยคานันทะที่กัลกัตตา ซึ่งนักบวชหนุ่มนั่งตั้งจิตอธิษฐานให้พระเจ้าทรงให้ความมั่นใจในพันธกิจที่ท่านกำลังจะกระทำ บาบาจีกล่าวกับท่านว่า “จงไปอเมริกา ตามที่คุรุของเจ้ามอบหมาย อย่ากลัว เจ้าจะได้รับการคุ้มครอง เจ้าเป็นคนที่เราเลือกให้ไปเผยแผ่กริยาโยคะในโลกตะวันตก”

    flower

    ลาหิริ มหัสยะ

    ลาหิริ มหัสยะเกิดเมื่อวันที่ 30 กันยายน 1828 ที่หมู่บ้านฆุรนี ในเบงกอล ประเทศอินเดีย ตอนอายุสามสิบสามปี วันหนึ่งขณะท่านกำลังเดินอยู่ที่เชิงเขาหิมาลัย ใกล้ๆ รานิเกษ ท่านได้พบกับมหา วตารบาบาจี คุรุของท่าน การพบที่ทำให้ท่านทั้งสองที่เคยอยู่ร่วมกันมาหลายชาติได้กลับมารวมกันอีกครั้ง ด้วยพระพรอันตื่นตัว ลาหิริ มหัสยะได้รับทิพยสง่าราศีแห่งวิญญาณ และการหยั่งรู้พระเจ้าที่ไม่เคยจางหายไปจากตัวท่าน

    มหาวตารบาบาจีประสิทธิ์ประสาทกริยาโยคศาสตร์ให้แก่ท่าน สั่งให้ท่านถ่ายทอดวิธีปฏิบัติอันศักดิ์สิทธิ์นี้แก่ผู้แสวงหาพระเจ้าที่จริงใจ เมื่อลาหิริ มหัสยะกลับบ้านที่พาราณสีท่านได้ทำพันธกิจนี้สำเร็จ ท่านเป็นคนแรกที่นำกริยาโยคะ ศาสตร์โบราณที่สูญหายมาสอนในยุคใหม่ ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ฟื้นฟูโยคะในอินเดียยุคใหม่ ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่สิบเก้า มาจนถึงปัจจุบัน

    ท่านปรมหังสา โยคานันทะเขียนไว้ใน อัตชีวประวัติของโยคี ว่า “ดุจเดียวกับดอกไม้กำจายกลิ่นหอมหวาน ท่านลาหิริ มหัสยะผู้ใช้ชีวิตครองเรือนอย่างเงียบๆ ก็ไม่อาจซ่อนความรุ่งโรจน์ในตัวท่าน ผู้ภักดีจากทั่วอินเดียเริ่มมาแสวงหาอมฤตรสจากปรมาจารย์ผู้หลุดพ้นดุจฝูงผึ้ง... ซีวิตของคุรุผู้ครองเรือนที่มีดุลยภาพกลมกลืนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ชายหญิงนับพันนับหมื่น”

    ลาหิริ มหัสยะ เป็นแบบอย่างของโยคะตามอุดมคติ ที่อาตมันน้อยๆ รวมกับพระเจ้า ท่านจึงได้รับยกย่องเป็น โยคาวตาร หรือ อวตารแห่งโยคะ

    บิดามารดาของปรมหังสา โยคานันทะเป็นศิษย์ของลาหิริ มหัสยะ มารดาของท่านอุ้มท่านซึ่งยังเป็นทารกไปที่บ้านของท่านคุรุ ลาหิริ มหัสยะให้พรเด็กน้อยว่า “แม่เอ๋ย ลูกของเจ้าจะเป็นโยคี เป็นยานแห่งธรรมที่จะนำพาวิญญาณมากมายสู่แผ่นดินของพระเจ้า”

    ตลอดชีวิตของท่าน ลาหิริ มหัสยะไม่ได้ก่อตั้งองค์กรใดๆ แต่ได้พยากรณ์ไว้ว่า “หลังจากเราตายไปราวๆ ห้าสิบปี จะมีผู้เขียนถึงเรื่องราวชีวิตของเรา เพราะความสนใจโยคะอย่างลึกซึ้งจะเกิดขึ้นในโลกตะวันตก โยคสารจะกระจายไปทั่วโลก ช่วยเสริมสร้างภราดรภาพในมวลหมู่มนุษย์: ความเป็นหนึ่งเดียวเมื่อมนุษย์รู้จักพระบิดาผู้ทรงเป็นหนึ่งเดียวได้โดยตรง”

    ลาหิริ มหัสยะ เข้าสู่มหาสมาธิ ที่พาราณสี เมื่อวันที่ 26 กันยายน 1895 ห้าสิบปีต่อมา คำพยากรณ์ของท่านเป็นจริงในอเมริกา เมื่อโลกตะวันตกสนใจโยคะเพิ่มขึ้น จากแรงบันดาลใจเมื่อได้อ่าน อัตชีวประวัติของโยคี โดย ปรมหังสา โยคานันทะ ซึ่งมีเรื่องราวอันงดงามเกี่ยวกับชีวิตของลาหิริ มหัสยะ

    flower

    สวามีศรียุกเตศวร

    สวามีศรียุกเตศวรเกิดเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 1855 ที่เซรัมปอร์ ในเบงกอล ประเทศอินเดีย ศรียุกเตศวรเป็นศิษย์ของลาหิริ มหัสยะ สถานะทางธรรมของท่านถึงขั้นญาณวตาร หรือ อวตารแห่งปัญญา

    ศรียุกเตศวรรู้ว่า การผสมผสานมรดกทางธรรมของโลกตะวันออก กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโลกตะวันตก จะช่วยบรรเทาความทุกข์ทรมานของโลกยุคใหม่ ทั้งทางด้านวัตถุ จิตวิทยา และจิตวิญญาณ แนวคิดนี้ตกผลึกเมื่อท่านได้พบกับมหาวตารบาบาจี ซึ่งเป็นคุรุของลาหิริ มหัสยะ เมื่อปี 1894

    “และนี่คือคำขอร้องจากเรา สวามี” บาบาจีกล่าวกับท่าน “เจ้าจะเขียนตำราสั้นๆ ว่าด้วยความสอดคล้องที่เป็นส่วนสำคัญพื้นฐานระหว่างคัมภีร์ของทางศาสนาคริสต์กับฮินดูได้หรือไม่? เวลานี้ลัทธินิกายที่แตกแยกย่อยออกไปทำให้คนไม่เข้าใจหลักพื้นฐานที่ยังความเป็นเอกภาพให้เกิดขึ้นระหว่างศาสนาทั้งสอง จงนำความเหมือนที่มีมาอ้างอิงให้ผู้คนได้เข้าใจว่า ประดาบุตรผู้ได้รับแรงบันดาลใจจากพระเป็นเจ้าล้วนนำสัจธรรมเดียวกันมาสั่งสอนผู้คนทั้งสิ้น”

    ศรียุกเตศวรเล่าว่า “ในค่ำคืนอันเงียบสงบ ครูตั้งอกตั้งใจเขียนบทเปรียบเทียบไบเบิลกับคัมภีร์แห่งสนาตนธรรม โดยหยิบยกเอาถ้อยดำรัสของพระเยซูมาชี้ให้เห็นว่า คำสอนของท่านโดยเนื้อแท้แล้วก็เป็นเฉกเช่นเดียวกับคำสอนในพระเวท ด้วยความกรุณาของท่านบรมคุรุ หนังสือ The Holy Science, ของครูจึงเขียนเสร็จได้ในเวลาอันสั้น”

    ตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่ม ปรมหังสา โยคานันทะได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของสวามีศรียุกเตศวร ในการพบกันเมื่อปี 1894 ท่านบรมคุรุได้บอกแก่ศิษย์หนุ่มว่า มหาวตารบาบาจีได้กล่าวแก่ท่านว่า “ส่วนตัวเจ้าเองนั้น สวามี เจ้าจะมีบทบาทในการแลกเปลี่ยนที่กำลังจะมาถึงระหว่างโลกตะวันออกกับโลกตะวันตก ในอีกหลายปีข้างหน้า เราจะส่งศิษย์คนหนึ่งไปให้เจ้าสอนสั่งเพื่อที่วันข้างหน้าเขาจะได้นำศาสตร์แห่งโยคะไปเผยแพร่ยังโลกตะวันตก ที่นั่นมีผู้ต้องการแสวงธรรมเป็นจำนวนมาก พลังสั่นสะเทือนจากวิญญาณของพวกเขาไหลบ่าเข้ามาหาเราดั่งกระแสน้ำอันเชี่ยวกราก เราเล็งเห็นว่าในอเมริกาและยุโรปมีผู้ที่มีศักยภาพของนักบุญกำลังรอใครสักคนไปปลุกพวกเขาให้ตื่นขึ้น”

    หลังจากเล่าเรื่องนี้แล้ว ศรียุกเตศวรกล่าวแก่โยคานันทะว่า “ลูกเอ๋ย เจ้าก็คือศิษย์คนที่ท่านบาบาจีสัญญาว่าจะส่งมาให้ครูเมื่อหลายปีก่อนนั้น”

    ภายใต้การอบรมฝึกฝนของศรียุกเตศวร ท่านโยคานันทะได้เตรียมพร้อมที่จะเริ่มพันธกิจทั่วโลกในโลกตะวันตก ศรียุกเตศวรระบุให้ปรมหังสา โยคานันทะเป็นทายาทสืบทอดอาภรณ์ธรรมและอาศรมของท่าน

    สวามีศรียุกเตศวรเข้ามหาสมาธิ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 1936 ในช่วงที่ปรมหังสาจีเดินทางไปเยือนอินเดียหลังจากมาอยู่ที่อเมริกาสิบห้าปี

    flower

    ปรมหังสา โยคานันทะ

    ดังที่ได้พรรณนามาข้างต้น ปรมหังสา โยคานันทะ ได้รับพรจากมหาวตารบาบาจี ลาหิริ มหัสยะ และ สวามีศรียุกเตศวร—ปรมคุรุทั้งสามในสายธรรมของท่าน—ให้ปฏิบัติพันธกิจเผยแพร่กริยาโยคะไปทั่วโลก

    ในหนังสือ อัตชีวประวัติของโยคี ท่านเขียนไว้ว่า “การก่อตั้งองค์กรเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ ในโลกตะวันตก ‘รวงรังน้ำอมฤตแห่งธรรม’ เป็นหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากศรียุกเตศวรกับมหา วตารบาบาจี”

    flower

    การนำองค์กรหลังจากโยคานันทะละสังขาร

    ก่อนละสังขาร ท่านปรมหังสา โยคานันทะได้กล่าวไว้ว่า พระเจ้าประสงค์ให้ท่านเป็นคุรุคนสุดท้ายในสายคุรุแห่งเอสอาร์เอฟ ศิษย์หรือผู้นำสมาคมนี้คนใดไม่อาจอ้างตำแหน่งคุรุ (ระเบียบศักดิ์สิทธิ์นี้มีอยู่ในประวัติศาสตร์ศาสนา หลังจากท่านคุรุนานัค นักบุญยิ่งใหญ่ผู้ก่อตั้งศาสนาซิกข์ในอินเดีย ละสังขาร มีคุรุสืบทอดต่อกันไปตามปกติ คุรุท่านที่สิบในสายธรรมนั้นประกาศว่า ท่านเป็นคนสุดท้ายในสายคุรุ หลังจากนั้นมาให้ถือว่าคำสอนคือคุรุ)

    ปรมหังสาจีให้ความมั่นใจว่า หลังจากท่านละสังขารไปแล้ว ท่านจะยังทำงานต่อโดยผ่านสมาคมที่ท่านก่อตั้ง นั่นคือ เซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ/สมาคมโยโคทะสัตสังคะ แห่งอินเดีย ท่านกล่าวว่า “เมื่อข้าพเจ้าไม่อยู่แล้ว คำสอนจะเป็นครูของท่าน...ด้วยคำสอนนี้ ท่านจะปรับเข้ากับข้าพเจ้าและเหล่ามหาคุรุที่ส่งข้าพเจ้ามา”

    เมื่อมีผู้ถามเกี่ยวกับการสืบทอดการนำของเอสอาร์เอฟ/วายเอสเอส ปรมหังสาจีตอบว่า “จะมีบุรุษและสตรีผู้หยั่งรู้เป็นผู้นำขององค์กรนี้ตลอดไป พระเจ้าและบรมคุรุรู้จักพวกเขา เขาเหล่านี้จะเป็นผู้สืบทอดสายธรรม และเป็นตัวแทนในทุกภารกิจวิถีธรรมขององค์กร”

    ผู้สืบทอดต่อจากปรมหังสา โยคานันทะ

    ราชรษิ ชนกนันทะ

    นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 1920 จนกระทั่งไม่นาน ก่อนท่านปรมหังสา โยคานันทะเข้ามหาสมาธิเมื่อปี 1952 กิจกรรมทั้งปวงและภารกิจของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ ล้วนอำนวยโดยท่านโยคานันทะ หลังจากนั้น การนำองค์กรได้ส่งต่อถึงราชรษิ ชนกนันทะ ศิษย์ใกล้ชิด ที่ปรมหังสาจีเลือกให้เป็นประธานเอสอาร์เอฟ และสืบตำแหน่งต่อจากท่านหลังจากท่านละสังขารเมื่อปี 1952

    Rajarsi-receives-sannyas-small.jpg#asset:6581

    ราชรษิ ชนกนันทะ นามเดิมเจมส์ เจ. ลินน์ เกิดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 1892 ที่อาร์ชิบัลด์ มลรัฐหลุยเซียนา ท่านได้พบกับท่านปรมหังสา โยคานันทะครั้งแรกตอนที่ปรมหังสาจีเดินทางแสดงธรรมที่เมืองแคนซัสเมื่อปี 1932

    ท่านปฏิบัติกริยาโยคะอย่างก้าวไกลได้รวดเร็ว ท่านปรมหังสาจีจึงเรียกท่านอย่างรักใคร่ ว่า “นักบุญลินน์” ปี 1951 ท่านโยคานันทะมอบสมณศักดิ์ราชรษิ ชนกนันทะ (ตามนามของพระชนก ผู้ทรงธรรมแห่งอินเดียโบราณ) และมอบหมายให้ท่านรับผิดชอบ แนะนำการทำงานของเอสอาร์เอฟ/วายเอสเอส

    ชีวิตอันเป็นแบบอย่างของราชรษิ ชนกนันทะ โยคีผู้ประเสริฐแห่งโลกตะวันตก สิ้นสุดเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 1955

    ศรีทยมาตา

    ศรีทยมาตาสืบทอดจากราชรษิ ชนกนันทะ ในฐานะประธานและผู้นำทางธรรม เป็นท่านที่สามแห่งเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ/สมาคมโยโคทะสัตสังคะ แห่งอินเดีย

    Daya-Mata-with-PY-1939-Hermitage-small.jpg#asset:6617

    ศรีทยมาตานามเดิม เฟย์ ไรท์ เกิดที่เมืองซอลท์เลค เมื่อวันที่ 31 มกราคม 1914 ท่านได้พบกับ ท่านปรมหังสา โยคานันทะ ตอนท่านปรมหังสาไปบรรยายธรรมและจัดการอบรมที่นั่น เมื่อปี 1931 หลังจากนั้นไม่นานท่านได้มาสู่อาศรม และบรรพชาเป็นนักบวช

    กว่ายี่สิบปี ศรีทยมาตาเป็นส่วนหนึ่งในแวดวงศิษย์ใกล้ชิดกลุ่มเล็กๆ ผู้อยู่รับใช้ปรมหังสาจีเกือบตลอดเวลา เมื่อหลายปีผ่านไปท่านได้รับมอบหมายงานที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงทศวรรษ 1930 ขณะท่านยังอยู่ในวัยสาว ปรมหังสาจีแต่งตั้งให้ท่านเป็นเจ้าหน้าที่ในคณะกรรมการอำนวยการเอสอาร์เอฟ และในวัยปลายชีวิตปรมหังสาจีได้มอบหมายให้ท่านดูแลสำนักงานใหญ่นานาชาติของเอสอาร์เอฟ และได้บอกกล่าวแก่ศิษย์ทั่วโลกอย่างเปิดเผยถึงบทบาทที่ศรีทยมาตาถูกกำหนดมา ไม่นานก่อนปรมหังสาจีละสังขาร ท่านได้กล่าวกับศรีทยมาตาว่า “ตอนนี้งานของครูเสร็จสิ้นแล้ว งานของเธอได้เริ่มขึ้น”

    การที่ปรมหังสาจีเลือกศรีทยมาตาเป็นผู้นำในอนาคตของสมาคมทั่วโลกของท่าน ได้รับการยืนยันจากมหาวตารบาบาจี เมื่อศรีทยมาตาได้พบกับท่านมหาวตารในช่วงที่ท่านจาริกไปอินเดียเมื่อปี 1962

    ศรีทยมาตาถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2010 หลังจากดำรงตำแหน่งประธานเอสอาร์เอฟ/วายเอสเอสมานานกว่า 55 ปี

    ศรีมฤนลินีมาตา

    ศรีมฤนลินีมาตารับตำแหน่งประธานและผู้นำสายธรรมแห่งเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ/สมาคมโยโคทะสัตสังคะ แห่งอินเดีย ต่อจากศรีทยมาตา เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2011 และปฏิบัติหน้าที่นี้จนถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2017 ท่านก็เช่นกัน เป็นผู้ที่ท่านโยคานันทะเลือกและฝึกฝนให้ช่วยแนะนำการทำงาน หลังจากปรมหังสาจีละสังขารแล้ว ศรีมฤนลินีมาตามีบทบาทนำที่สำคัญหลายประการในตลอดเจ็ดทศวรรษที่ท่านเป็นนักบวชแห่งเอสอาร์เอฟ

    Mrinalini-Mata-pranam-small.jpg#asset:6618

    มฤนลินีมาตาเกิดเมื่อ ค.ศ. 1931 เมืองวิชิตา รัฐแคนซัส และได้พบกับท่านปรมหังสา โยคานันทะ เมื่อเดือนธันวาคม 1945 ขณะท่านอายุสิบสี่ปี หลังจากนั้นไม่นานท่านได้เข้าสู่อาศรมที่เอนซินิตัส แคลิฟอร์เนีย ปฏิญาณตนเป็นนักบวชตลอดชีวิต

    ตั้งแต่มฤนลินีมาตาเริ่มใช้ชีวิตในอาศรม ปรมหังสาจีได้กล่าวกับท่านและศิษย์คนอื่นๆ เกี่ยวกับบทบาทที่ท่านคุรุเห็นในตัวท่าน—โดยเฉพาะหน้าที่รับผิดชอบในอนาคต ในฐานะบรรณาธิการ บทเรียนของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ ข้อเขียน และบทสนทนาของท่าน “เธอถูกกำหนดมาให้ทำงานนี้” ปรมหังสาจีกล่าวไว้ในจดหมายที่เขียนถึงราชรษิ ชนกนันทะเมื่อปี 1950 “พระเจ้าทรงบอกกับครู เมื่อแรกเห็นพลังแห่งวิญญาณของเธอ”

    นอกจากปฏิบัติงานมาหลายทศวรรษในฐานะหัวหน้าบรรณาธิการสิ่งพิมพ์ของเอสอาร์เอฟ/วายเอสเอส ศรีมฤนลินีมาตายังดำรงตำแหน่งรองประธานเอสอาร์เอฟนานถึงสี่สิบห้าปี ได้ช่วยศรีทยมาตาอย่างใกล้ชิด ในการบริหารสำนักนักบวชแห่งเอสอาร์เอฟ/วายเอสเอส ตลอดจนดูแลแนะนำกิจกรรมและงานบริการสังคมทั่วโลก

    ภราดาจิทานันทะ

    ภราดาจิทานันทะสืบทอดตำแหน่งประธานและผู้นำสายธรรมแห่งเอสอาร์เอฟ/วายเอสเอสเป็นท่านที่ห้า ต่อจากศรีมฤนลินีมาตาเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2017 ท่านเป็นนักบวชแห่งเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ มานานกว่าสี่สิบปี

    Chidananda-Convo-2018-small.jpg#asset:6621

    นับแต่เริ่มชีวิตนักบวช ภราดาจิทานันทะ ทำงานร่วมกับศรีมฤนลินีมาตาอย่างใกล้ชิด ช่วยงานบรรณาธิการและจัดพิมพ์ผลงานของท่านปรมหังสา โยคานันทะ และสิ่งพิมพ์อื่นๆ ของเอสอาร์เอฟ ศรีทยมาตาได้แต่งตั้งท่านเป็นกรรมการในคณะกรรมการอำนวยการเอสอาร์เอฟ และ วายเอสเอส เมื่อปี 2009 ทั้งยังเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารดูแลกิจกรรมและการปฏิบัติงานของเอสอาร์เอฟภายใต้การนำของท่านประธานนานหลายปี ในฐานะประธาน ภราดาจิทานันทะบริหารองค์กรด้วยความช่วยเหลือของคณะกรรมการอำนวยการ ซึ่งกรรมการล้วนเป็นนักบวชผู้ได้รับการฝึกฝนโดยศิษย์สายตรงของปรมหังสา โยคานันทะ

    flower

    ศิษย์สายตรงของท่านปรมหังสา โยคานันทะ

    ตลอดหลายทศวรรษหลังจากท่านปรมหังสาจีละสังขาร ศิษย์สายตรงหลายท่านผู้ทรงคุณธรรม จากการทำงานใกล้ชิดกับปรมหังสา โยคานันทะ ล้วนพำนักอยู่ในอาศรมเอสอาร์เอฟ ปฏิบัติงานขององค์กร และสนับสนุนการนำองค์กรที่ท่านคุรุแต่งตั้งด้วยศรัทธาอันมั่นคง

    flower

    คณะกรรมการปัจจุบัน, สำนักนักบวช, และ สมาชิกที่เป็นฆราวาส

    กรรมการทุกท่านในคณะกรรมการล้วนเป็นสมาชิกในสำนักนักบวช ผู้ปฏิญาณการเลิกละตลอดชีวิต ปฏิบัติงานโดยไม่รับเงินเดือน ท่านเหล่านี้รวมทั้งนักบวชชายหญิงในอาศรมของเอสอาร์เอฟทุกแห่ง อุทิศชีวิตเพื่อพันธกิจที่ท่านปรมหังสา โยคานันทะได้ริเริ่มไว้

    ภายใต้การอำนวยการของประธานและคณะกรรมการ นักบวชทั้งชายและหญิงแห่งเอสอาร์เอฟ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่หลายประการ ในศูนย์อาศรมของชมรม เดินทางไปเมืองต่างๆ ทั่วโลกเพื่อบรรยายธรรม จัดการอบรม และ นำการเข้าเงียบ ให้คำปรึกษาแนะนำทางธรรม—ทางโทรศัพท์ จดหมาย และ พบปะเป็นการส่วนตัว—แก่นักเรียนผู้ศึกษาคำสอนของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ

    มีคนหลายคนผู้เป็นสมาชิกเอสอาร์เอฟ เหล่าฆราวาสผู้อุทิศตน ช่วยงานสำคัญๆ อันขาดเสียมิได้ของท่านปรมหังสา โยคานันทะทั่วโลก—โดยทำงานร่วมกับนักบวชจากสำนักงานใหญ่นานาชาติ และศูนย์อาศรมเอสอาร์เอฟอื่นๆ ซึ่งเป็นการรับผิดชอบงานมากมายในโบสถ์ และศูนย์สมาธิทั่วโลก