Back to Schedule
Donate

    หนังสือคลาสสิกด้านวิถีธรรมที่ไม่เสื่อมคลาย

    Bro Chidananda with Deluxe AY Book for blog 110521 v2

    หนังสือเล่มนี้จะเปลี่ยนชีวิตคนนับล้านๆ คน และจะเป็นผู้ส่งสารแทนตัวข้าพเจ้ายามที่ข้าพเจ้าจากโลกนี้ไปแล้ว

    ปรมหังสา โยคานันทะ

    ปี 2021 เป็นวาระครบรอบ 75 ปีของหนังสือ อัตชีวประวัติของโยคี ของท่านปรมหังสา โยคานันทะ ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังสือคลาสสิกด้านวิถีธรรมที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดของโลก

    เป็นเรื่องราวชีวิตของท่านปรมหังสา โยคานันทะ—ท่านมักได้รับการขนานนามว่า “บิดาแห่งโยคะในโลกตะวันตก”— หนังสือเล่มนี้อยู่ในใจของคนเป็นล้านทั่วโลก มีการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากกว่า 50 ภาษา และทำหน้าที่ดั่งทูตแห่งศาสตร์โยคะโบราณของอินเดีย แนะนำให้ผู้อ่านจำนวนนับไม่ถ้วนให้รู้จักกับวิธีเข้าถึงการตระหนักรู้ในพระเจ้า อันเป็นสิ่งที่อินเดียได้ให้กับอารยธรรมโลกอย่างไม่เหมือนใครและยืนยงคงอยู่จนปัจจุบัน

    หนังสือเล่มนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นผลงานชิ้นเอกตั้งแต่การตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1946 และในปี 1999 ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งใน “100 หนังสือทางธรรมที่ดีที่สุดของศตวรรษ” เรื่องราวชีวิตของความยิ่งใหญ่อันแน่ชัด ยังคงประสบความสำเร็จในการเผยความรู้ด้านวิถีธรรมอันนำไปสู่อิสรภาพให้กับผู้คนตลอดมา ซึ่งก่อนหน้านี้คนจำนวนน้อยนิดเท่านั้นที่เข้าถึงความรู้นี้

    สำรวจหนังสือ:

    เสน่ห์ดึงดูดใจที่ไม่เสื่อมคลายและเป็นสากล

    “ข้าพเจ้าซาบซึ้งยิ่งนัก” ท่านศรีโยคานันทะเขียนไว้ในหมายเหตุผู้ประพันธ์ฉบับตีพิมพ์ปี 1951 “ที่ได้รับจดหมายจากผู้อ่านหลายพันท่าน ข้อคิดเห็นของท่านเหล่านี้ รวมไปถึงข้อเท็จจริงที่ว่ามีการนำหนังสือเล่มนี้ไปแปลเป็นภาษาต่างๆ หลายภาษา ทำให้ข้าพเจ้าเกิดความเชื่อมั่นว่าโลกตะวันตกคงจะได้พบคำตอบที่แน่ชัดต่อคำถามมากมายที่มีจากเนื้อความในหนังสือเล่มนี้ ‘ศาสตร์แห่งโยคะมีคุณค่าพอที่จะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คนยุคปัจจุบันหรือไม่?’”

    หลายปีที่ผ่านมา “ผู้อ่านเรือนพันเรือนหมื่น” ได้กลายมาเป็นเรือนล้าน และเสน่ห์ดึงดูดใจอันเป็นสากลและไม่มีวันเสื่อมคลายของ อัตชีวประวัติของโยคี นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นับแต่การพิมพ์ครั้งแรก เวลาก็ผ่านไปถึง 75 ปีแล้ว แต่หนังสือเล่มนี้ยังคงเป็นหนังสือขายดีในหมวดหนังสือแห่งวิถีธรรมและหมวดหนังสือที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนอยู่เช่นเดิม—นับเป็นปรากฏการณ์ที่หาได้ยากยิ่ง ! มีการแปลหลายภาษา ปัจจุบัน สถาบันการศึกษาระดับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยหลายแห่งในโลกจึงได้นำหนังสือเล่มนี้ไปใช้ในการเรียนการสอนวิชาศาสนาและปรัชญาตะวันออก ไล่เรื่อยไปถึงวิชาวรรณคดีอังกฤษ จิตวิทยา สังคมวิทยา มานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ และกระทั่งวิชาบริหารธุรกิจ ไม่ว่าจะโดยมาตรฐานใดๆ ก็ตาม อัตชีวประวัติของโยคี มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการแนะนำศาสตร์แห่งโยคะให้กับโลกสมัยใหม่

    “ท่านปรมหังสา โยคานันทะ ได้นำเอาหลักทางวิถีธรรมเข้ามาสู่กระแสสังคม ดุจเดียวกับท่านคานธี”

    “บางที จุดเด่นของหนังสือ อัตชีวประวัติของโยคี ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนนับล้าน ๆ คนบนโลกนี้” จากบทความหนึ่งในนิตยสารด้านอภิปรัชญา New Frontier
    (ฉบับเดือนตุลาคม ปี 1986) “อาจจะอยู่ตรงที่ท่าน ปรมหังสา โยคานันทะ ได้นำเอาหลักทางธรรมเข้ามาสู่กระแสสังคมดุจเดียวกับท่านคานธี และถ้าจะกล่าวว่าท่านโยคานันทะมีส่วนอย่างมากในการผลักดันให้คำว่า ‘โยคะ’ เข้ามามีตำแหน่งแห่งที่ในคลังศัพท์ของเรายิ่งกว่าผู้ใด ก็คงจะไม่ผิดนัก”

    “อาจกล่าวได้ว่าท่านโยคานันทะเป็นบิดาแห่งโยคะในโลกตะวันตก....”

    “ดร. เดวิด ฟรอลีย์ นักวิชาการที่ได้รับความเคารพและผู้อำนวยการสถาบันพระเวทศึกษาแห่งอเมริกา ได้เขียนเอาไว้ในนิตยสาร Yoga International (ฉบับเดือนตุลาคม/พฤศจิกายน ปี 1996) ซึ่งตีพิมพ์ทุกสองเดือนว่า “อาจกล่าวได้ว่าท่านโยคานันทะเป็นบิดาแห่งโยคะในโลกตะวันตก ไม่ใช่แค่การฝึกโยคะเพื่อผลทางร่างกายที่เป็นที่นิยมกันมาก แต่เป็นโยคะทางจิตและวิญญาณ เป็นศาสตร์ของการตระหนักรู้ในตน ซึ่งเป็นความหมายอันแท้จริงของคำว่าโยคะ”

    “…คัมภีร์อุปนิษัทแห่งยุคสมัยใหม่...”

    “ศาสตราจารย์อศุทศ ทาส Ph.D., D.Litt. แห่งมหาวิทยาลัยกัลกัตตาประกาศว่า “อัตชีวประวัติของโยคี นี้ถือเป็นคัมภีร์อุปนิษัทแห่งยุคสมัยใหม่... สามารถตอบสนองความกระหายทางธรรมของผู้แสวงหาสัจธรรมในทั่วทุกมุมโลกได้ ด้วยความทึ่งและอัศจรรย์ใจ พวกเราที่อยู่ในอินเดียต่างเฝ้ามองปรากฏการณ์ที่ผู้คนหันมาสนใจเรื่องราวของเหล่านักบุญและปรัชญาของอินเดียกันมากขึ้น เพราะความนิยมในหนังสือเล่มนี้เป็นเหตุ เรารู้สึกพอใจและภูมิใจอย่างยิ่งที่หยาดน้ำอมฤตแห่งสนาตนธรรมหรือกฎแห่งสัจธรรมอันเป็นนิรันดร์ของอินเดีย ได้รับการเก็บรักษาเอาไว้เป็นอย่างดี ในถ้วยทองคำของหนังสือ อัตชีวประวัติของโยคี

    แม้กระทั่งในอดีตสหภาพโซเวียต หนังสือเล่มนี้ก็สร้างความประทับใจให้กลุ่มคนหยิบมือเดียวที่มีช่องทางจะแสวงหามาอ่านได้ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ ท่านผู้พิพากษาวี. อาร์. กฤษณะ อิเยร์ อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาของอินเดียได้เล่าถึงการไปเยือนเมืองแห่งหนึ่งที่อยู่ไม่ไกลจากเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (สมัยนั้นเรียกเมืองเลนินกราด) โดยท่านได้ซักถามกลุ่มอาจารย์ในเมืองนั้นว่า “เคยคิดหรือไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อคนตายไป...อาจารย์ท่านหนึ่งเดินเข้าไปข้างในเงียบๆ แล้วกลับออกมาพร้อมหนังสือ อัตชีวประวัติของโยคี ผมแปลกใจมาก ในประเทศที่ปกครองด้วยหลักปรัชญาวัตถุนิยมของมาร์กซ์และเลนินเช่นนี้ แต่กลับมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐบาลเอาหนังสือของท่านปรมหังสา โยคานันทะออกมาอวดผมได้! ‘ขอความกรุณาท่านได้รับรู้ไว้ด้วยว่าเรื่องทางธรรมของอินเดียนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรสำหรับพวกเรา’ เขาบอก ‘เรายอมรับความจริงแท้ของทุกสิ่งที่บันทึกไว้ในหนังสือเล่มนี้’”

    “...หนังสือที่ช่วยเปิดหน้าต่างของทั้งจิตและวิญญาณ”

    “ในบรรดาหนังสือนับพันๆ เล่มที่ตีพิมพ์ออกมาในแต่ละปี” บทความบทหนึ่งใน India Journal (ฉบับวันที่ 21 เมษายน 1995) ให้ข้อสรุป “มีทั้งหนังสือที่มุ่งให้ความบันเทิง ให้การศึกษา และให้การสอนสั่งเพื่อพัฒนาจิตใจ และถ้าผู้อ่านท่านใดพบหนังสือที่ให้ทั้งสามประการนี้ในเล่มเดียวได้ ก็นับเป็นโชคอย่างมหาศาล ยิ่ง อัตชีวประวัติของโยคี ด้วยแล้ว ยิ่งหาได้ยากยิ่งกว่า เพราะเป็นหนังสือที่เปิดหน้าต่างของทั้งจิตและวิญญาณ”

    “…ยกย่องให้เป็นหนึ่งในหนังสือทางวิถีธรรมที่ให้ทั้งความเพลิดเพลินและความสว่างทางปัญญามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา”

    “ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หนังสือเล่มนี้ได้รับคำยกย่องชมเชยจากทั้งผู้จำหน่าย นักวิจารณ์ และนักอ่านในฐานะที่เป็นหนึ่งในหนังสือที่ทรงอิทธิพลด้านวิถีธรรมมากที่สุดเล่มหนึ่งแห่งยุคสมัยใหม่ ในทำเนียบนักเขียนและนักวิชาการของฮาร์เปอร์คอลลินส์ปี 1999 อัตชีวประวัติของโยคี ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน ‘หนังสือทางวิถีธรรม “100 เล่ม ที่ดีที่สุดแห่งศตวรรษ” และในหนังสือ 50 Spiritual Classics ซึ่งตีพิมพ์ออกมาในปี 2005 ทอม บัตเลอร์-บาวเดนได้เขียนชมว่า อัตชีวประวัติของโยคี“ ควรค่าแก่การยกย่องให้เป็นหนึ่งในหนังสือทางวิถีธรรมที่ให้ทั้งความเพลิดเพลินและความสว่างทางปัญญามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา”

    ในบทสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ ท่านปรมหังสา โยคานันทะได้เขียนข้อยืนยันอันลึกล้ำที่เหล่านักบุญและนักปราชญ์ในทุกศาสนาของโลกได้ให้การรับรองสืบต่อกันมาทุกยุคทุกสมัยว่า:

    พระเจ้าเป็นความรัก การสรรค์สร้างสรรพสิ่งของพระองค์ก็อุบัติขึ้นจากความรักเพียงประการเดียวเท่านั้น ก็สิ่งที่ปลอบปลุกใจมนุษย์ได้คือความคิดอันเรียบง่าย หาใช่การยกเหตุผลแบบผู้ทรงภูมิมาว่ากล่าวกันไม่ หรือมิใช่? นักบุญทุกคนผู้เข้าถึงแก่นแห่งความจริงได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แผนการรังสรรค์จักรวาลของพระเป็นเจ้ามีอยู่จริง และเป็นแผนที่งดงามและนำมาซึ่งความสุขอันบริบูรณ์.”

    ในขณะที่ อัตชีวประวัติของโยคี ได้ย่างเข้าสู่ปีที่ 75 เราหวังเหลือเกินว่าผู้อ่านทุกคนที่ได้อ่านงานเขียนอันให้แรงบันดาลใจเล่มนี้—ทั้งผู้ที่อ่านเป็นครั้งแรก และผู้ที่ถือเอาหนังสือเล่มนี้เป็นเพื่อนในยามก้าวย่างไปบนเส้นทางชีวิตมานานนักหนาแล้ว—จะพบว่าวิญญาณของพวกเขาได้เปิดรับศรัทธาอันลึกล้ำในสัจธรรมอันสูงส่ง ซึ่งดำรงอยู่ในใจกลางของสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นปริศนาความลี้ลับแห่งชีวิต

    กำเนิดและพัฒนาการ

    การประพันธ์หนังสือเล่มนี้เคยมีการทำนายเอาไว้ล่วงหน้าเป็นเวลานานมาแล้ว

    การประพันธ์หนังสือเล่มนี้เคยมีการทำนายเอาไว้ล่วงหน้าเป็นเวลานานมาแล้ว กล่าวคือ ท่านลาหิริ มหัสยะ (1828 - 1895) ครูบาอาจารย์ผู้ควรค่าแก่การเคารพแห่งศตวรรษที่ 19 และเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญผู้ผลักดันให้เกิดการฟื้นฟูศาสตร์แห่งโยคะขึ้นในยุคปัจจุบัน ได้ทำนายว่า “หลังเราละสังขารไปได้ราวห้าสิบปี จะมีผู้เรียงร้อยเรื่องราวชีวิตของเรานี้เป็นตัวอักษร เพราะโลกตะวันตกเริ่มหันมาสนใจศึกษาศาสตร์แห่งโยคะกันอย่างจริงจัง สาระสำคัญของวิชาโยคะจะแพร่หลายไปทั่วโลก และจะช่วยสถาปนาภราดรภาพขึ้นในหมู่มวลมนุษย์ เป็นเอกภาพอันเกิดจากการที่มนุษย์สามารถหยั่งรู้ได้ด้วยตนเองว่าเรามีพระบิดาเจ้าองค์เดียวกัน”

    Lahiri  Mahasaya Used For Website

    หลายปีต่อมา ท่านสวามีศรียุกเตศวร ศิษย์ชั้นสูงของท่านลาหิริ มหัสยะ ได้เล่าคำทำนายนี้ให้กับท่านศรีโยคานันทะฟัง “เธอจะต้องทำหน้าที่ในส่วนของเธอ จงเผยแผ่คำสอนของท่านออกไป และจงเขียนชีวประวัติอันศักดิ์สิทธิ์ของท่านขึ้นเถิด”

    ปี 1945 ห้าสิบปีหลังจากท่านลาหิริ มหัสยะละสังขาร ท่านปรมหังสา โยคานันทะได้เขียนหนังสือ อัตชีวประวัติของโยคี เสร็จสมบูรณ์ ถือเป็นการกระทำตามคำสั่งของท่านผู้เป็นคุรุได้ครบถ้วนบริบูรณ์ทั้งสองประการ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอชีวประวัติอันโดดเด่นของท่านลาหิริ มหัสยะเป็นภาษาอังกฤษครั้งแรก หรือการนำศาสตร์แห่งวิญญาณอันเก่าแก่ของอินเดียมาเผยแพร่ไปสู่ผู้คนทั้งหลายในโลก

    จะมีผู้เรียงร้อยเรื่องราวชีวิตของเรานี้เป็นตัวอักษร เพราะโลกตะวันตกเริ่มหันมาสนใจศึกษาศาสตร์แห่งโยคะกันอย่างจริงจัง สาระสำคัญของวิชาโยคะจะแพร่หลายไปทั่วโลก

    ท่านลาหิริ มหัสยะ

    หนังสือ อัตชีวประวัติของโยคี เป็นโครงการระยะยาวที่ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าที่ท่านปรมหังสา โยคานันทะจะประพันธ์ได้แล้วเสร็จ ท่านศรีทยมาตา หนึ่งในศิษย์รุ่นแรกและศิษย์ที่ใกล้ชิดกับท่านที่สุด ได้เล่าให้ฟังว่า:

    “ตอนที่ฉันมาที่เมานต์วอชิงตันเมื่อปี 1931 ท่านปรมหังสาได้เริ่มลงมือเขียนหนังสือ อัตชีวประวัติ แล้ว ครั้งหนึ่ง ขณะเข้าไปรับใช้ช่วยทำงานเป็นเลขานุการให้ท่านในห้องหนังสือ ฉันมีวาสนาได้เห็นงานเขียนบทแรกๆ ของท่านบทหนึ่งคือบท ‘สวามีพยัคฆ์’ ท่านเรียกให้ฉันเก็บงานเขียนบทนั้นไว้ โดยบอกว่าจะรวมมันไว้ในหนังสือเล่มที่ท่านกำลังเขียนอยู่ เนื้อหาส่วนใหญ่ของหนังสือเล่มนี้ท่านมาเขียนในภายหลัง ช่วงปี 1937 ถึง 1945”

    จากเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1935 ถึงตุลาคม ค.ศ. 1936 ท่านศรีโยคานันทะได้เดินทางกลับมายังอินเดีย (ผ่านยุโรปและปาเลสไตน์) เป็นการกลับมาเยี่ยมคารวะท่านสวามีศรียุกเตศวร คุรุของท่านเป็นครั้งสุดท้าย ระหว่างที่อยู่ในอินเดีย ท่านได้เก็บรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงมากมายมาไว้เพื่อเขียนหนังสือ อัตชีวประวัติ นี้ รวมไปถึงเรื่องราวของนักบุญและนักปราชญ์อีกหลายท่านที่ท่านเคยรู้จัก และได้นำชีวิตของท่านเหล่านั้นมาพรรณนาไว้ในหนังสือได้อย่างน่าประทับใจ “ข้าพเจ้าไม่เคยลืมคำขอร้องของท่านศรียุกเตศวร เรื่องที่จะให้เขียนชีวประวัติของท่านลาหิริ มหัสยะ” ท่านเขียนในเวลาต่อมา “ระหว่างกลับไปเยือนอินเดีย ข้าพเจ้าหาโอกาสติดต่อศิษย์โดยตรงและญาติของท่านผู้เป็นองค์โยคาวตารทุกครั้งที่ทำได้ จดบันทึกเรื่องราวที่ได้สนทนากับท่านเหล่านั้นเอาไว้มากมาย ตรวจสอบข้อเท็จจริงและวันเวลา ตลอดจนเก็บรวบรวมภาพถ่าย จดหมาย และเอกสารเก่าๆ เอาไว้ด้วย”

    เมื่อกลับถึงสหรัฐอเมริกาปลายปี 1936 ท่านเริ่มใช้เวลาอยู่ที่อาศรมซึ่งสร้างขึ้นเพื่อท่านในระหว่างที่ท่านไม่อยู่ ที่เอนซินิตัส บนชายฝั่งตอนใต้ของแคลิฟอร์เนีย ดูเหมือนจะเป็นสถานที่ที่เหมาะแก่การสำรวมความคิดในการเขียนหนังสือที่ท่านเริ่มไว้ตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อนให้สำเร็จสมบูรณ์

    Py Writing  Ay At  Encinitas
    ท่านปรมหังสา โยคานันทะ กำลังเขียน อัตชีวประวัติของโยคี ที่อาศรมเอสอาร์เอฟ ในเอนซินิตัส ปี 1938

    “ฉันยังจำวันเวลาที่อาศรมอันสุขสงบริมทะเลแห่งนั้นได้แม่นยำ” ท่านศรีทยมาตาเล่า “ท่านมีงานในความรับผิดชอบมากเสียจนกระทั่งไม่อาจปลีกตัวมาเขียนหนังสือ อัตชีวประวัติ ได้ทุกวัน แต่ก็หาเวลาช่วงเย็นๆ ค่ำๆ และทุกครั้งที่มีเวลาว่างมาเขียน จนราวปี 1939 หรือ 40 ท่านจึงค่อยมีเวลามาทุ่มเทให้กับหนังสือเล่มนี้อย่างเต็มที่ และที่ว่าเต็มที่นี้ก็คือ—จากรุ่งเช้าวันนี้ไปจนรุ่งเช้าวันพรุ่งนี้! โดยมีพวกเรากลุ่มลูกศิษย์กลุ่มเล็กๆ— ตารมาตา อานันทมาตาน้องสาวของฉัน ศรัทธมาตา และตัวฉัน— คอยอยู่รับใช้งานท่าน หลังจากที่พิมพ์แต่ละบทแต่ละตอนจบ ท่านจะส่งงานเหล่านั้นให้กับตารมาตา ผู้ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการ

    “ความทรงจำเหล่านั้นช่างล้ำค่าอะไรเช่นนี้! ระหว่างที่ท่านเขียนไป ท่านก็หวนคิดถึงประสบการณ์อันศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านได้จารจำไว้ จุดมุ่งหมายอันสูงส่งของท่านคือการเผื่อแผ่ความสุขและความจริงที่ได้ประสบพบมา ในระหว่างที่ได้อยู่ร่วมกับนักบุญและครูบาอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ และในระหว่างที่ตัวท่านเองได้เข้าถึงองค์พระเป็นเจ้าให้กับผู้อื่นด้วย บ่อยครั้งที่ท่านจะหยุดเป็นพักๆ เหลือบตามองขึ้นเบื้องบน ร่างนิ่งสนิท จิตตั้งมั่นอยู่ในสมาธิที่หยั่งลึกจนเป็นหนึ่งเดียวกับพระเป็นเจ้า ห้องทั้งห้องจะอบอวลไปด้วยรัศมีแห่งความรักของพระเป็นเจ้าที่ทรงพลังอย่างยิ่ง สำหรับเราเหล่าสานุศิษย์ แค่ได้อยู่ร่วมกับท่านในช่วงเวลาดังกล่าว ก็เหมือนกับจิตสำนึกของเราได้รับการยกระดับให้สูงขึ้นแล้ว

    “ท้ายที่สุด ในปี 1945 วันแห่งความยินดีที่หนังสือเล่มนี้เสร็จสมบูรณ์ก็มาถึง ท่านปรมหังสาจรดปากกาเขียนประโยคสุดท้ายว่า ‘ข้าแต่พระเป็นเจ้า ทรงประทานครอบครัวอันใหญ่ยิ่งให้กับสวามีผู้นี้โดยแท้’ แล้ววางปากกาลงพร้อมบอกด้วยความยินดีว่า:

    “ ‘เสร็จหมดแล้ว หนังสือเล่มนี้จะเปลี่ยนชีวิตคนนับล้านๆ คน และจะเป็นผู้ส่งสารแทนตัวเราในยามที่เราจากโลกนี้ไปแล้ว’”

    บทบาทของตารมาตาในการจัดพิมพ์หนังสือ

    จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของท่านตารมาตาที่จะต้องหาผู้จัดพิมพ์ ท่านปรมหังสา โยคานันทะได้พบกับท่านตารมาตาขณะไปบรรยายและเปิดชั้นสอนโยคะที่ซานฟรานซิสโก เมื่อปี 1924 ท่านตารมาตามีญาณหยั่งรู้ทางธรรมที่หาได้ยากยิ่ง และได้กลายมาเป็นหนึ่งในกลุ่มสานุศิษย์กลุ่มเล็กๆ ที่มีความก้าวหน้าในทางธรรมอย่างสูงยิ่ง ท่านโยคานันทะยกย่องความสามารถในการทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการของเธออย่างสูง และเคยบอกด้วยว่าเธอเป็นหนึ่งในผู้มีสติปัญญาฉลาดหลักแหลมที่สุดเท่าที่ท่านเคยได้พบมา ท่านชื่นชมความรอบรู้และความเข้าใจที่เธอมีต่อภูมิปัญญาในคัมภีร์ต่างๆ ของทางอินเดีย ถึงกับครั้งหนึ่งเคยตกปากว่า “นอกจากท่านศรียุกเตศวร คุรุผู้ยิ่งใหญ่ของเราแล้ว เห็นจะไม่มีใครที่เราคุยเรื่องปรัชญาอินเดียด้วยได้อย่างออกรสเหมือนคุยกับตารมาตาอีกแล้ว”

    ท่านตารมาตานำต้นฉบับไปยังนครนิวยอร์ก แต่ผู้ที่จะพิมพ์หนังสือให้ใช่จะหากันได้ง่ายๆ ก็อย่างที่เห็นกันอยู่บ่อยๆ ว่าความสำเร็จของผลงานอันยิ่งใหญ่มักไม่ค่อยสะดุดตาผู้คนที่มีความคิดค่อนข้างติดอยู่กับแบบแผนเดิมๆ ถึงยุคปรมาณูใหม่ๆ หมาดๆ จะช่วยขยายขอบเขตความรับรู้โดยรวมของมนุษยชาติ ด้วยการเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในเรื่องเอกภาพอันละเอียดอ่อนของสสาร พลังงานและความคิด แต่สำนักพิมพ์ในยุคนั้นก็ยากจะทำใจให้พร้อมไปกับเรื่องราวในงานเขียนหลายบทของท่าน เช่น บท “เนรมิตเวียงวังกลางหิมาลัย” และ “สวามีสองร่าง”! เป็นต้น

    ท่านตารมาตาต้องอาศัยอยู่ในแฟล็ตซอมซ่อ ไม่มีน้ำร้อนอยู่นานเป็นปี ในขณะที่เที่ยวเวียนไปติดต่อตามสำนักพิมพ์ต่างๆ สุดท้าย เธอก็ส่งข่าวดีมาจนได้ นั่นคือ สำนักพิมพ์ฟิโลโซฟิคอลไลบรารี สำนักพิมพ์มีชื่อของนิวยอร์กรับจะพิมพ์หนังสืออัตชีวประวัติ “สิ่งที่เธอทำให้กับหนังสือเล่มนี้ เราไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นบรรยายอย่างไรดี....” ท่านศรีโยคานันทะว่า “ถ้าปราศจากเธอ หนังสือเล่มนี้คงไม่ได้พิมพ์”

    ไม่กี่วันก่อนคริสตมาสของปี 1946 หนังสือที่พวกเราเฝ้ารอมาเป็นเวลานานก็มาถึงเมานต์วอชิงตัน

    คำชื่นชมอย่างล้นหลาม

    หนังสือเล่มนี้ได้รับการต้อนรับจากผู้อ่านและสื่อสารมวลชนทั่วโลกโดยมีคำชื่นชมตามติดมาอย่างล้นหลาม “ไม่เคยมีอะไรก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเขียนเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาในภาคพื้นยุโรปอื่นใด ที่จะเหมือนกับหนังสือซึ่งนำเสนอเรื่องของโยคะเล่มนี้” นี่คือข้อความที่ทางโคลัมเบียยูนิเวอร์ซิตี้เพรสลงไว้ใน Review of Religions ส่วน The New York Times ก็ชื่นชมว่าเป็น “เรื่องเล่าที่หาได้ยากยิ่ง” Newsweek รายงานว่า “หนังสือของท่านโยคานันทะเป็นชีวประวัติของวิญญาณมากกว่าจะเป็นชีวประวัติของตัวบุคคล... น่าทึ่งและเป็นการศึกษาวิถีชีวิตทางศาสนาที่มีคำอธิบายประกอบชัดเจน บอกเล่าเรียบง่ายตรงไปตรงมาในลีลาที่งามหรูของโลกตะวันออก”

    ฉบับตีพิมพ์ครั้งที่สองมีการเตรียมการอย่างรวดเร็ว จนมีฉบับตีพิมพ์ครั้งที่สามตามมาในปี 1951 นอกจากการปรับปรุงต้นฉบับ ตัดทอนข้อความในส่วนที่กล่าวถึงกิจกรรมและแผนงานของทางสมาคมที่ไม่มีอยู่อีกแล้วออกไป ท่านปรมหังสา โยคานันทะยังได้เพิ่มเติมบทสุดท้ายเข้าไป—เป็นหนึ่งในบทที่ยาวที่สุดในหนังสือ— โดยเป็นเรื่องราวในช่วงปี 1940-1951 และได้บอกไว้ในเชิงอรรถของบทใหม่นี้ว่า “เนื้อหาในบทที่ 49 นี้เพิ่มเติมมาในฉบับตีพิมพ์ครั้งที่สาม (ปี 1951) เหตุเพราะมีผู้อ่านหลายท่านที่เคยอ่านฉบับตีพิมพ์สองครั้งแรกไปแล้วได้เขียนมาถามคำถามมากมาย ข้าพเจ้าจึงถือโอกาสตอบคำถามเหล่านั้นผ่านทางเนื้อหาบทนี้ ทั้งเรื่องเกี่ยวกับอินเดีย โยคะ และปรัชญาพระเวท”

    บทแก้ไขปรับปรุงจากท่านปรมหังสา โยคานันทะ มีรวบรวมไว้ในฉบับตีพิมพ์ครั้งที่เจ็ด (ปี 1956) ดังปรากฏความอยู่ในหมายเหตุผู้จัดพิมพ์ ในปัจจุบันหนังสือฉบับตีพิมพ์โดยเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ ทั้งหมดได้รวมเนื้อหาสุดท้ายที่ท่านโยคานันทะมุ่งหวังจะให้ปรากฏในหนังสือเอาไว้

    พัฒนาการหลังการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1946

    การตีพิมพ์ของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ ได้รวบรวมเนื้อหาสุดท้ายของ อัตชีวประวัติของโยคี ตามความมุ่งหวังของผู้ประพันธ์เอาไว้ทั้งหมด ซึ่งไม่ปรากฏในการตีพิมพ์ของที่อื่น— ซึ่งท่านได้ชี้แนะเป็นการส่วนตัวให้กับบรรณาธิการที่ท่านทำงานด้วยตั้งแต่ปี 1924 จนเมื่อละสังขารในปี 1952 ซึ่งท่านไว้วางใจมอบหมายงานทั้งหมดที่เกี่ยวกับการตีพิมพ์หนังสือของท่านเอาไว้ให้

    บางครั้งผู้อ่าน อัตชีวประวัติของโยคี ถามว่าฉบับปัจจุบันและฉบับพิมพ์ครั้งแรกในปี 1946 แตกต่างกันอย่างไร

    ในช่วงชีวิตของท่านปรมหังสาจี มีอัตชีวประวัติตีพิมพ์ออกมาสามฉบับ ท่านปรับเปลี่ยนฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 3 ในปี 1951 อย่างมาก—มีการปรับปรุงเนื้อหาอย่างละเอียด ขยายความบางประเด็น และเพิ่มเติมบทสุดท้าย “ปี 1940-1951” (บทที่ยาวที่สุดบทหนึ่งในหนังสือ) ขึ้นมาใหม่ ท่านยังปรับปรุงเพิ่มเติมอีกหลังจากที่ไม่สามารถรวมการแก้ไขใหม่เข้าไปได้จนกระทั่งการตีพิมพ์ครั้งที่ 7 ซึ่งออกมาในปี 1956

    หมายเหตุผู้จัดพิมพ์ใน อัตชีวประวัติของโยคี ฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 7 บอกถึงประวัติของความมุ่งหวังในหนังสือเล่มนี้ของท่านผู้เขียน:

    “หนังสือฉบับตีพิมพ์ในอเมริกาปี 1956 มีการแก้ไขปรับปรุงเนื้อหาตามที่ท่านปรมหังสา โยคานันทะได้ทำไว้เมื่อปี 1949 สำหรับการตีพิมพ์ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และมีการแก้ไขเพิ่มเติมจากท่านผู้ประพันธ์อีกครั้งในปี 1951 ใน ‘หมายเหตุฉบับตีพิมพ์ที่กรุงลอนดอน’ ลงวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ.1949 นั้น ท่านปรมหังสา โยคานันทะได้บันทึกเอาไว้ว่า ‘การตระเตรียมงานสำหรับฉบับตีพิมพ์ที่ลอนดอนทำให้ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ปรับปรุงแก้ไข และเพิ่มเนื้อหาเข้าไปในหนังสือเล่มนี้อีกเล็กน้อย นอกจากเนื้อหาใหม่ในบทสุดท้ายแล้ว ข้าพเจ้ายังได้เพิ่มเชิงอรรถเพื่อตอบคำถามที่ท่านผู้อ่านฉบับตีพิมพ์ในอเมริกาได้เคยเขียนจดหมายมาถามเอาไว้อีกด้วย’

    “การแก้ไขเพิ่มเติมภายหลังที่ท่านผู้เขียนทำขึ้นในปี 1951 นั้น เดิมท่านมุ่งหวังจะให้ปรากฏในฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 4 ที่อเมริกา (ปี 1952) ขณะนั้นลิขสิทธิ์ของ อัตชีวประวัติของโยคี ยังเป็นของสำนักพิมพ์ในนิวยอร์ก ซึ่งในปี 1946 ที่นิวยอร์กนั้น หนังสือแต่ละหน้าจะถูกนำไปทำเป็นเพลตแบบอิเล็กโตรไทพ์ ผลที่ตามมาคือหากจะเพิ่มเครื่องหมายจุลภาคเข้าไปสักตัว เพลตของทั้งหน้าก็จะต้องถูกตัดออก เพื่อจะเพิ่มบรรทัดใหม่ที่มีเครื่องหมายตามต้องการเข้าไป ความยุ่งยากทางเทคนิคดังกล่าว ซึ่งทำให้ต้องใช้เพลตมากขึ้นมีผลต่อค่าใช้จ่าย ดังนั้น สำนักพิมพ์นิวยอร์กจึงไม่ได้รวมการแก้ไขเพิ่มเติมของท่านผู้เขียนในปี 1951 เข้าไว้ในฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 4

    “ช่วงปลายปี 1953 ทางเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ (เอสอาร์เอฟ) ได้ซื้อลิขสิทธิ์ของหนังสือ อัตชีวประวัติของโยคี และพิมพ์หนังสือออกมาอีกครั้งในปี 1954 และ 1955 (ฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ห้าและหก) แต่ช่วงสองปีนั้น กองบรรณาธิการของเอสอาร์เอฟมีภาระหน้าที่อื่นมากมายจนไม่อาจจะรวมส่วนการแก้ไขเพิ่มเติมของท่านผู้เขียนลงบนอิเล็กโตรไทพ์เพลตได้ ด้วยว่าเป็นงานที่เกินกำลังและความเชี่ยวชาญเต็มที แต่กระนั้น งานก็ยังเสร็จออกมาทันสำหรับฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 7”

    การแก้ไข ตัดทอน และเพิ่มเติมทั้งหมดที่ทำระหว่างปี 1946-1956 เป็นการทำตามคำขอของท่านปรมหังสาจี การปรับปรุงแก้ไขอื่นๆ—ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงจุดเล็กๆ— ได้ถูกทำในภายหลัง โดยท่านตารมาตา ตามคำชี้แนะที่ได้รับมาจากท่านปรมหังสา โยคานันทะก่อนที่ท่านจะละสังขาร ท่านตารมาตาเป็นบรรณาธิการให้กับท่านโยคานันทะมาอย่างยาวนาน และทำงานใกล้ชิดกับท่านมามากกว่า 25 ปี ท่านได้ให้คำชี้แนะและมอบหมายให้เธอดูแลงานที่จะตีพิมพ์หลังท่านละสังขารไปแล้วด้วยความไว้วางใจอย่างสูงสุด

    ท่านปรมหังสาจีเห็นล่วงหน้าอย่างชัดเจนว่าหนังสือเล่มนี้จะมีผู้อ่านที่ขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ ในแต่ละปีๆ ท่านจึงแนะนำบรรณาธิการของท่านให้เพิ่มเติม เชิงอรรถ รูปภาพ คำบรรยายภาพ ฯลฯ ที่น่าจะจำเป็นสำหรับการทำให้หนังสือทันสมัยอยู่เสมอ

    การแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังปี 1956 เป็นต้นมา นับว่าเป็นเรื่องปกติที่สำนักพิมพ์ใดๆ ก็ตามจะทำเพื่อแก้ไขปรับปรุงฉบับตีพิมพ์ทีหลังของหนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ (ยกตัวอย่างเช่น การปรับแก้รายการหนังสืออื่นๆ ของท่านผู้เขียนให้ทันสมัย การเพิ่มเชิงอรรถที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านในขณะนั้น โดยบอกชัดเจนว่าเป็นการเพิ่มเติมโดยสำนักพิมพ์ ไม่ใช่โดยท่านผู้เขียน รวมถึงการเพิ่มรูปภาพของท่านผู้เขียนและกิจกรรมต่างๆ ของท่าน และการแก้ไขที่จำเป็นอื่นๆ ในหน้าแรกๆ และหน้าท้ายๆ ของหนังสือ)

    ในการตีพิมพ์ อัตชีวประวัติของโยคี ฉบับแรกๆ ใช้คำนำหน้าชื่อท่านผู้เขียนว่า “Paramhansa” ซึ่งเป็นการออกเสียงตามแบบภาษาเบงกาลี ที่มักจะงดออกเสียงหรือแทบจะไม่ออกเสียงตัว a ในการตีพิมพ์ฉบับต่อๆ มา เพื่อเป็นการสื่อถึงความศักดิ์สิทธิ์ของชื่อที่มีรากจากพระเวทนี้ ได้ใช้การถอดเสียงสันสกฤตของคำนี้ว่า “Paramahansa” ซึ่ง parama แปลว่า “สูงสุดหรือสำคัญที่สุด” และ hansa แปลว่า “หงส์” อันหมายถึงผู้ที่เข้าถึงการรู้แจ้งสูงสุดในสภาวะทิพย์ของตนอันแท้จริง และในความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างตนกับบรมวิญญาณ

    หากเปรียบเทียบกับหนังสือที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1946 อัตชีวประวัติ ที่จัดพิมพ์โดยเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ ในปัจจุบันได้เพิ่มภาพของท่านปรมหังสา โยคานันทะและภาพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อความมากกว่า 20 หน้า ภาพเหล่านี้เป็นภาพสะสมของสมาคมที่ช่วยให้ผู้อ่านที่สนใจเห็นภาพของท่านผู้เขียนและงานของท่านได้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

    เรื่องเล่าจากศิษย์ใกล้ชิด

    สานุศิษย์ของท่านปรมหังสา โยคานันทะรู้สึกอย่างไรกับอัตชีวประวัติของโยคี

    เดือนธันวาคม ปี 1946 หนังสือ อัตชีวประวัติของโยคี ฉบับแรกที่ถูกส่งมาจากสำนักพิมพ์ในนิวยอร์ก ได้มาถึงศูนย์กลางนานาชาติของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ ในโอกาสของการฉลองการครบรอบ 50 ปีของหนังสือในปี 1996 ศิษย์ใกล้ชิดของท่านปรมหังสา โยคานันทะบางท่านยังคงอยู่กับเรา และได้เล่าความทรงจำเกี่ยวกับวันที่หนังสือเดินทางมาถึง รวมถึงอิทธิพลของหนังสือที่มีต่อชีวิตพวกท่าน พวกท่านเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้สัมผัสกับทิพยปัญญา ความรัก และการแปรเปลี่ยนการมองชีวิตที่ปรากฏบนหน้าหนังสือเล่มนี้ จากวันนั้นแต่ละหน้าของหนังสือนี้ได้เปลี่ยนชีวิตคนนับล้าน

    ศรีทยมาตา

    การเขียนหนังสือ อัตชีวประวัติของโยคี เป็นงานที่ท่านปรมหังสาจีใช้เวลายาวนานหลายปีกว่าจะแล้วเสร็จ ตอนที่ฉันมาที่เมานต์วอชิงตันเมื่อปี 1931 ท่านปรมหังสาได้เริ่มลงมือเขียนหนังสือ อัตชีวประวัติ แล้ว ครั้งหนึ่ง ขณะเข้าไปรับใช้ทำงานเป็นเลขานุการให้ท่านในห้องหนังสือ ฉันมีวาสนาได้เห็นงานเขียนบทแรกๆ ของท่านบทหนึ่งคือบท ‘สวามีพยัคฆ์’ ท่านเรียกให้ฉันเก็บงานเขียนบทนั้นไว้ โดยบอกว่าจะรวมมันไว้ในหนังสือเล่มที่ท่านกำลังเขียนอยู่

    อย่างไรก็ตาม เนื้อหาส่วนใหญ่ของหนังสือเล่มนี้ท่านมาเขียนในภายหลัง ช่วงปี 1937 ถึง 1945 ท่านปรมหังสาจีมีงานในความรับผิดชอบมากเสียจนกระทั่งไม่อาจปลีกตัวมาเขียนหนังสือ อัตชีวประวัติ ได้ทุกวัน แต่ก็หาเวลาช่วงเย็นๆ ค่ำๆ และทุกครั้งที่มีเวลาว่างมาเขียน โดยมีพวกเรากลุ่มลูกศิษย์กลุ่มเล็กๆ อานันทมาตา (ด้านล่าง) ศรัทธมาตา และตัวฉัน คอยอยู่ใกล้ ๆ ท่านในช่วงเวลาส่วนใหญ่ เราช่วยท่านพิมพ์ต้นฉบับ หลังจากที่พิมพ์แต่ละบทแต่ละตอนจบ คุรุเทพจะส่งงานเหล่านั้นให้กับตารมาตา ผู้ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการ

    วันหนึ่ง ระหว่างการเขียนอัตชีวประวัติ ท่านคุรุได้บอกกับพวกเราว่า “เมื่อครูจากโลกนี้ไปแล้ว หนังสือเล่มนี้จะเปลี่ยนชีวิตคนนับล้านๆ คน และจะเป็นผู้ส่งสารแทนตัวครู ยามที่ครูจากโลกนี้ไปแล้ว”

    เมื่อต้นฉบับเสร็จลง ท่านตารมาตาได้ไปที่นิวยอร์กเพื่อหาผู้จัดพิมพ์ ท่านปรมหังสาจียกย่องความสามารถในการทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการของเธออย่างสูงและมักกล่าวยกย่องเธอต่อหน้าผู้คน ท่านกล่าวว่า “สิ่งที่เธอทำให้กับหนังสือเล่มนี้ เราไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นบรรยายอย่างไรดี เธอป่วยหนักมากก่อนที่เธอจะไปนิวยอร์ก แล้วก็เดินทางไปในสภาพเช่นนั้น ถ้าปราศจากเธอ หนังสือเล่มนี้คงไม่ได้พิมพ์”

    ความรู้สึกของคุรุเทพเมื่อหนังสือเล่มนี้เสร็จสิ้นคือความสุขที่ไม่สามารถบรรยายได้ ท่านเซ็นหนังสือให้กับฉัน และลูกศิษย์คนอื่นๆ อีกมากมายที่อยู่ในอาศรมนี้ เมื่อฉันได้รับหนังสือนี้ จากการที่ได้รับใช้พิมพ์ต้นฉบับ ฉันรู้ว่านี่เป็นหนังสืออมตะ เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่ความจริงที่ถูกซ่อนเร้นได้ถูกเปิดเผยออกมาอย่างชัดเจนและสร้างแรงดลใจ อย่างที่ไม่เคยมีหนังสือเล่มไหนนำเสนอมาก่อน ไม่มีนักเขียนคนไหนให้คำอธิบายเหมือนคุรุจี ในเรื่องอัศจรรย์ การเกิดใหม่ กรรม ชีวิตหลังความตาย และความจริงทางธรรมที่น่าทึ่งทั้งหลายเหมือนที่ปรากฏในหน้าหนังสือเล่มนี้

    ความรู้สึกของท่านต่อชื่อเสียงของหนังสือในทุกวันนี้จะเป็นอย่างไร? ท่านคงรู้สึกประทับใจอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน ที่ อัตชีวประวัติของโยคี แพร่หลายไปทั่วทุกมุมโลก ไปยังผู้คนทุกวัฒนธรรม ทุกเชื้อชาติ ศาสนาและวัย และได้รับคำชื่นชมและความสนใจอย่างยิ่งมาตลอดห้าสิบปีนี้ แม้ว่าคุรุจีจะไม่เคยให้ความสำคัญกับตัวเอง ท่านเชื่อมั่นในคุณค่าอันยิ่งใหญ่ของสิ่งที่ท่านเขียนอย่างแน่นอน เพราะท่านรู้ว่าท่านเขียนสัจจะ

    ตารมาตา

    Py Ay Stories Of Direct Disciples Tara Mata
    Py Letter To Lauri Pratt
    หนังสือที่เซ็นให้สำหรับตารมาตา (ลอรี แพร็ต) ในคำขอบคุณจากผู้เขียนที่อยู่ในหนังสือ อัตชีวประวัติของโยคี ท่านปรมหังสาจีแสดงความขอบคุณต่อตารมาตาในการตรวจทานต้นฉบับของท่าน ข้อความที่ท่านเซ็นในหนังสือของเธอแสดงให้เห็นว่า ท่านให้คุณค่าแก่งานที่ลูกศิษย์ของท่านทำอย่างยิ่ง

    แด่ลอรี แพร็ตของเรา

    “ขอพระเจ้าและองค์คุรุทั้งหลายประสาทพรแด่เธอ เพราะความกล้าหาญและความรักที่เธอให้กับการผลิตหนังสือเล่มนี้ออกมา พี.วาย.”

    “ในที่สุดความหอมหวลอันศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า ขององค์คุรุของเราและครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้เผยปรากฏออกมาจากประตูอันศักดิ์สิทธิ์ของวิญญาณของเรา—หลังจากอุปสรรคอันไม่รู้จบสิ้นและความพยายามอย่างไม่ลดละของลอรี แพร็ตและลูกศิษย์คนอื่นๆ เหล่าอุปสรรคทั้งหลายถูกเผาผลาญไปในเปลวเพลิงแห่งปีติสุขอันเป็นนิรันดร์”

    มฤนลินีมาตา

    เย็นวันหนึ่งในอาศรมเอนซินิตัส ปลายปี 1946 ขณะที่พวกเราศิษย์รุ่นเยาว์กำลังวุ่นอยู่กับงานในครัว คุรุเทพก็เดินเข้าประตูมา เราหยุดทำทุกอย่างและพุ่งความสนใจไปที่รอยยิ้มกว้างและตาที่เปล่งประกายงดงามกว่าปกติของท่าน ท่านไพล่มือไปด้านหลัง แอบซ่อน “บางอย่าง” อยู่ ท่านเรียกคนอื่นๆ เข้ามาอีกและให้เราเข้าแถวต่อหน้าท่าน แล้วท่านก็โชว์ให้เราเห็นสมบัติที่ซ่อนอยู่—นั่นก็คือหนังสือตัวอย่างของ อัตชีวประวัติของโยคี นอกจากเสียง “โอ้” และ “อ้า” แล้ว เราแทบจะไม่สามารถแสดงออกถึงความยินดีอื่นใดได้อีก เมื่อได้เห็นหนังสือเรื่องราวชีวิตของท่านกับเหล่านักบุญและนักปราชญ์ของอินเดียที่เราเฝ้ารอมานาน— ท่านเคยทำให้เราหลงใหลในเรื่องราวเหล่านี้อย่างยิ่งในช่วงเวลามีค่าที่เราได้อยู่กับท่าน แล้วท่านก็เปิดบางหน้าให้เราดู และเก็บภาพวาดของมหาวตารบาบาจี ไว้เป็นหน้าสุดท้าย เราน้อมคารวะอย่างแทบจะไม่หายใจ และซึมซับพระพรของการได้เป็นคนกลุ่มแรกที่ได้เห็นภาพเหมือนของบรม-บรม-บรมคุรุของเรา

    ต้นเดือนธันวาคม เราทั้งหมดถูกเรียกให้ไปรวมกันที่เมานต์วอชิงตัน เพื่อรอรับห่อหนังสือจากสำนักพิมพ์ และเตรียมการจัดส่งไปรษณีย์ไปให้ลูกศิษย์ที่กำลังเฝ้ารอมากมาย—มีคำสั่งซื้อล่วงหน้าเข้ามาจำนวนหลายร้อยเล่ม ก่อนหน้านั้นหลายอาทิตย์ หากพวกเราคนใดคนหนึ่งมีเวลาว่าง เราจะมานั่งพิมพ์ป้ายที่อยู่ด้วยเครื่องพิมพ์ดีดรุ่นเก่า เราตั้งโต๊ะตัวใหญ่ (แผ่นกระดานเรียบวางบนแท่นม้าโรงเลื่อย) ในสำนักงาน เตรียมพร้อมสำหรับสายพานการทำงาน ตั้งแต่ห่อหนังสือแต่ละเล่มด้วยกระดาษส่งจดหมายสีน้ำตาลที่มาจากม้วนขนาดใหญ่ แล้วตัดกระดาษด้วยมือให้ได้ขนาดที่พอดี แปะหน้าซองและแสตมป์ ที่เราใช้ฟองน้ำทำให้เปียก เวลานั้นเราไม่มีเครื่องจักรหรือเครื่องห่อไปรษณีย์แต่อย่างใด! แต่ โอ้ เรามีความสุขมากที่ได้ร่วมในงานสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ โลกจะรู้จักท่านอาจารย์ผู้มีบุญยิ่งของเราผ่านทูตอันประเสริฐนี้

    บนห้องนั่งเล่นชั้นสาม คุรุเทพนั่งเซ็นหนังสือทุกเล่มที่โต๊ะทำงานเป็นเวลาหลายชั่วโมงโดยไม่พักเลย หนังสือถูกแกะออกจากกล่องส่งของของสำนักพิมพ์ ถูกเปิดออก แล้ววางเบื้องหน้าท่านไปเรื่อยๆ เล่มแล้วเล่มเล่าให้ท่านเซ็นทีละเล่มๆ จนเมื่อปากกาหมึกซึมด้ามหนึ่งหมดลง อีกด้ามก็ถูกเติมหมึก

    ตกดึก ท่านเรียกให้ฉันขึ้นไปพบข้างบน ท่านยังคงเซ็นหนังสืออยู่ ลูกศิษย์อาวุโสขอให้ท่านพักผ่อนเสียหน่อย แต่ท่านปฏิเสธแม้จะคิดพิจารณาคำขอนี้ จนกระทั่งท่านเซ็นหนังสือพร้อมประสาทพรจนครบทุกเล่มในรอบการส่งนั้น ใบหน้าท่านเปี่ยมด้วยความงดงามอย่างที่สุด ดั่งว่าตัวท่านจริงๆ และความรักที่ท่านมีต่อองค์พระเจ้ากำลังออกไปสู่โลกพร้อมหน้าหนังสือเหล่านั้น และไม่ควรที่จะหยุดแม้ชั่วเวลาเดียว

    เข้ารุ่งเช้าของวันใหม่ เรานั่งสมาธิแทบเท้าของท่านด้วยความสุขที่ไม่สามารถบรรยายได้ ท่านอาจารย์ได้มอบหนังสืออันล้ำค่านี้ให้เราส่วนตัวคนละเล่ม ส่วนเล่มอื่นๆ ก็ถูกห่อพร้อมสำหรับการนำไปส่งในตอนเช้า หรือไม่ก็ห่อเอาไว้เพื่อส่งไปที่อารามของท่านในฮอลลีวูดและซานดิเอโก อัตชีวประวัติของโยคี พร้อมสำหรับการเดินทางตามลิขิตของพระผู้เป็นเจ้า นั่นก็คือ ที่สุดแล้วหนังสือนี้จะเป็นสารแห่งพระพรขององค์คุรุและความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าไปยังวิญญาณของผู้แสวงหานับล้าน

    ไศลสุตมาตา

    ขณะที่ท่านปรมหังสาจีกำลังเขียน อัตชีวประวัติของโยคี มีพวกเราไม่กี่คนพำนักอยู่ที่อาศรมเอนซินิตัส ท่านใช้เวลาเขียนหนังสือเล่มนี้หลายปีมาก ฉันพำนักอยู่ที่นั่นในบางช่วงเวลา

    ท่านคุรุจีใช้เวลาเขียนหนังสือส่วนใหญ่ในห้องหนังสือของท่านในอาศรม ฉันจำได้ว่ามีบางครั้งท่านจะพูดให้คนเขียนตามทั้งคืน ในเวลาอื่นที่ท่านใช้เวลาต่อเนื่องทั้งวันหรือนานกว่านั้น ฉันไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเลขาจดบันทึกเหมือนทยมาตาหรืออนันทามาตา บางครั้งพวกเธอจดบันทึกคำพูดของท่านเป็นชวเลข บางครั้งก็ใช้เครื่องพิมพ์ดีด หน้าที่หลักของฉันคือทำอาหารเพื่อให้พวกเขาทำงานต่อเนื่องได้โดยไม่สะดุด!

    เมื่อ อัตชีวประวัติของโยคี ถูกส่งมาจากสำนักพิมพ์ เราดีใจกันอย่างมาก คุรุจีต้องการให้เราส่งหนังสือให้กับผู้ที่สั่งจองล่วงหน้าโดยทันที! ดังนั้นแล้วหลังจากดีใจกันในตอนแรก เราก็ง่วนอยู่กับการจัดส่งตามการสั่งจองที่มีมากมาย ซิสเตอร์ชิลาและฉันห่อหนังสือหลายเล่ม ติดแสตมป์ ทำให้พร้อมสำหรับการจัดส่ง แล้วเราก็ขับรถมา เปิดฝากระโปรงและประตูทุกบาน พอรถเต็ม เราก็ขับนำเอาห่อหนังสือไปที่ไปรษณีย์กลางในลอสแอนเจลีส เราดีใจมาก ในที่สุดผู้คนทุกหนแห่งกำลังจะได้เข้าถึง อัตชีวประวัติของโยคี!

    ภราดาภักตนันทะ

    ไม่นานหลังจากที่ผมเข้ามาพำนักในอาศรมในปี 1939 ท่านปรมหังสาจีได้พูดคุยกับพวกเราสองสามคนบนระเบียงตึกทำการที่เมานต์วอชิงตัน ท่านปรารภกับเราว่าพระเจ้าบอกให้ท่านเขียนหนังสือบางเล่มในชีวิตนี้ และเมื่อหนังสือเหล่านี้เสร็จ ภารกิจของท่านบนโลกนี้ก็จะจบลง อัตชีวประวัติของโยคี เป็นหนึ่งในหนังสือเหล่านั้น เมื่อ อัตชีวประวัติพิมพ์เสร็จออกมาครั้งแรก ผมอ่านตั้งแต่ปกหน้าจนถึงปกหลังภายในหนึ่งหรือสองวัน ช่างเป็นหนังสือที่ยอดเยี่ยมและสร้างแรงบันดาลใจอย่างยิ่ง! ผมจำได้ว่าผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้จะมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นความสนใจในคำสอนของท่านปรมหังสาจี จนถึงทุกวันนี้ เรายังเห็นแค่เพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น

    อุมามาตา

    เมื่อฉันพบท่านปรมหังสา โยคานันทะในปี 1943 ฉันอายุเก้าขวบ พ่อของฉันเป็นสมาชิกของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ และเข้าร่วมพิธีกรรมที่อารามในซานดิเอโก ในปี 1947 ฉันอ่าน อัตชีวประวัติของโยคี ที่ท่านปรมหังสา มอบให้กับพ่อ พ่อของฉันเป็นคนที่ถ่อมตัวมากและไม่เคยพยายามชักชวนให้คนอื่นเชื่อเหมือนตัวเอง ผลก็คือ พ่อไม่เคยเอาหนังสือให้ฉันดูเลย— ฉันพบมันโดยบังเอิญ ซึ่งฉันต้องใช้เวลาพอสมควรที่จะอ่าน เพราะฉันยังเด็กนักและหนังสือก็มีคำยากๆ มากมาย! ถึงกระนั้น อัตชีวประวัติของโยคี ก็เป็นที่พึ่งสำหรับฉันตั้งแต่แรกเริ่ม เป็นยารักษาสำหรับวิญญาณของฉัน... ยิ่งกว่านั้น อัตชีวประวัติของโยคี เผยให้เห็นว่าเราทุกคนสามารถรู้จักพระเจ้าได้

    มุกติมาตา

    ฉันจำได้ถึงคริสตมาสครั้งแรกในอาศรมในปี 1946 อัตชีวประวัติของโยคี เสร็จออกมา และท่านปรมหังสาจีมอบหนังสือให้เราทุกคน แต่ละหน้าหนังสือสื่อให้เห็นถึงบุคลิกของคุรุของเราที่สดใสและน่ารื่นรมย์ได้อย่างมีพลัง ทั้งความรักและความเบิกบานที่เรารับรู้ได้เมื่อยามที่อยู่กับท่าน เรารู้สึกเป็นปีติเพียงใดเวลาที่ได้ฟังท่านเล่าถึงเรื่องราวมากมายเหมือนที่อยู่ในหนังสือ ด้วยหนังสือเล่มนี้ ทุกคนจะได้มีประสบการณ์เช่นนั้น

    ซิสเตอร์ปารวตี

    ฉันจำได้อย่างแจ่มชัดเมื่อ อัตชีวประวัติของโยคี ออกมาครั้งแรก หลังจากนั้นไม่นาน ฉันขอให้ท่านปรมหังสาจีเขียนแง่คิดสักเล็กน้อยลงในหนังสือของฉัน ท่านเขียนว่า “หาองค์พระผู้เป็นเจ้าที่ซ่อนอยู่บนแท่นบูชาแห่งหน้าหนังสือนี้” บางทีเวลาฉันมีความต้องการเฉพาะบางอย่าง ฉันก็จะเปิด อัตชีวประวัติ อ่านดูเนื้อหาที่ฉันคิดว่า “ฉันจำไม่ได้เลยว่าเคยเห็นมาก่อน!” แต่กระนั้นมันพูดถึงสิ่งที่ฉันกำลังต้องเผชิญอยู่ในตอนนั้นพอดี แม้ว่าฉันจะไม่รู้ว่าจะไปเปิดหาตรงส่วนไหนในหนังสือ แต่เนื้อหานั้นก็จะกระโดดออกมาให้ฉันเห็นในเวลาจำเป็น ฉันพบว่าคำแนะนำของท่านอาจารย์เป็นจริงอย่างยิ่ง นั่นคือ—เธอสามารถพบพระผู้เป็นเจ้าซ่อนอยู่บนแท่นบูชาแห่งหน้าหนังสือนี้

    ภราดาอานันทโมยี

    ตอนผมเข้าวัยรุ่น ผมได้ใช้เวลาวันหยุดหน้าร้อนหนึ่งกับป้าและลุงในชานเมืองวินเทอร์ทูร์ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่แห่งหนึ่งในสวิตเซอร์แลนด์ ลุงของผมเป็นนักดนตรีและสมาชิกวงซิมโฟนีออเคสตรา เขาก็อยู่ในช่วงหยุดพักเหมือนกัน โดยใช้เวลาทำงานในสวนใหญ่ของเขา ผมช่วยลุงทำสวน และเพราะว่าลุงไม่มีลูก ลุงก็เลยสนใจผมมาก เวลาทำสวนเราเลยมี “ช่วงเวลาสนทนา” กันอย่างยาวนาน ผมพบว่าลุงมีความสนใจในปรัชญาตะวันออกอย่างมาก ผมตั้งใจฟังอย่างจดจ่อเวลาลุงบรรยายเรื่องกรรม การกลับชาติมาเกิด โลกทิพย์และเหตุโลก —โดยเฉพาะเรื่องนักบุญ หรือเหล่าครูบาอาจารย์ผู้เข้าถึงการรู้แจ้ง

    ลุงเล่าเรื่องพระพุทธเจ้าว่าท่านเข้าถึงสภาวะแห่งปีตินั้นได้อย่างไร รวมไปถึงนักบุญอื่นๆ ด้วย เรื่องเหล่านี้จุดประกายความปรารถนาในใจลึกๆ ให้ผมเดินตามตัวอย่างของพวกท่าน ผมจำได้ว่าผมเดินไปเดินมาและท่องในใจซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า รู้แจ้ง รู้แจ้ง แม้ว่าผมจะไม่เข้าใจความหมายของคำนี้อย่างเต็มที่ แน่นอนว่า ผมรู้ว่ามันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าที่มนุษย์ทั่วไปมีแน่ๆ ไม่ว่าคนๆ นั้น จะประสบความสำเร็จในการงานทางวัตถุหรือศิลปะเพียงใดก็ตาม แต่จะทำได้อย่างไร ลุงก็ไม่รู้เช่นกัน ลุงพูดว่าเราต้องมีคุรุที่จะสอนเราทุกสิ่งทุกอย่าง พอผมบอกว่าผมอยากจะพบคุรุมาก ลุงก็ส่ายหัวและยิ้มบอกว่า “เด็กที่น่าสงสาร เราไม่มีคุรุในสวิตเซอร์แลนด์หรอก!”

    ผมเลยเริ่มสวดขอคุรุ ความปรารถนาที่จะมีครูบาอาจารย์ของผมมีมากเหลือเกิน จนหลังจากที่ผมกลับบ้านแล้ว ผมจะไปที่สถานีรถไฟ รอคอยหลายชั่วโมง หวังว่า “ท่าน” จะมา แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

    หลังจากที่ผมเรียนจบ ผมช่วยงานธุรกิจของพ่อเป็นเวลาสองปีด้วยความหงุดหงิดใจ ตอนนั้นผมล้มเลิกความสนใจในปรัชญาฮินดูไปแล้ว เพราะผมสิ้นหวังที่จะเจอคุรุ ผมเริ่มต้นทำงานในแวดวงศิลปะ หลังจากนั้นสามปี ผมได้รับเชิญไปสหรัฐเพื่อเรียนกับแฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ สถาปนิกชื่อดัง

    สัปดาห์แรกในอเมริกา ผมไปเยี่ยมลุงคนหนึ่งที่อพยพมาอยู่ที่ประเทศนี้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1920 ระหว่างที่คุยกัน เขาพูดถึงปรัชญาฮินดู พอผมบอกเขาว่าผมเคยศึกษาเรื่องนี้หลายปีก่อนหน้านี้ หน้าของลุงเปล่งประกาย เขาพาผมไปที่ห้องหนังสือส่วนตัวและให้ผมดู อัตชีวประวัติของโยคี ลุงชี้รูปของท่านปรมหังสา โยคานันทะที่หน้าปก แล้วถามว่า “เคยรู้จักเขาไหม” ผมตอบว่าไม่ ลุงจึงบอกว่า “นี่เป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ลุงเคยพบ เขาเป็นครูบาอาจารย์แท้จริง!”

    “ลุงเคยพบท่านหรือ” ผมร้องด้วยความประหลาดใจ “ท่านอยู่ที่ไหน ไม่ใช่ในอเมริกาใช่ไหม!”

    “ใช่ ท่านอยู่ที่ลอสแอนเจลีส” แล้วลุงก็บอกว่าลุงไปฟังบรรยายและเข้าร่วมชั้นเรียนของท่านปรมหังสาจีหลังจากมาประเทศนี้ได้ไม่นาน ผมลองคิดดู หลายปีที่ผ่านมา ขณะที่ผมปรารถนาจะมีคุรุ ลุงของผมได้รู้จักคุรุและคำสอนของท่านแล้ว!

    ผมอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างกระหายมาก นี่ก็เป็นความอัศจรรย์แล้ว ผมสนใจมากจนไม่ได้สังเกตว่านี่ก็คืออัศจรรย์แล้ว— ผมไม่รู้ภาษาอังกฤษดีพอที่จะอ่านหนังสือได้สักเล่ม แฟรค์ ลอยด์ ไรท์ก็เขียนอัตชีวประวัติเช่นกัน แต่ผมพยายามอย่างไร้ผลที่จะอ่านหน้าแรกๆ ผมต้องใช้เวลาอีกหนึ่งปีเต็มที่จะเรียนภาษาอังกฤษให้ดีพอที่จะอ่านหนังสือเล่มนั้น แต่ผมอ่าน อัตชีวประวัติของโยคี ตั้งแต่ปกหน้าจนปกหลังได้

    ผมรับรู้ได้ในใจว่าผมได้พบสิ่งที่ต้องการแล้ว ผมตัดสินใจศึกษาคำสอนของท่านปรมหังสา โยคานันทะ และค้นหาพระเจ้า

    อีกหลายเดือนต่อมา ผมเรียนภาษาอังกฤษได้ดีพอที่จะเดินทางไปลอสแอนเจลีส หวังว่าจะได้พบท่านอาจารย์ ขณะที่ผมเดินเข้าสู่พื้นที่ของศูนย์แม่ ผมสัมผัสถึงความศานติที่เปี่ยมล้น ที่ผมไม่เคยสัมผัสมาก่อนจากที่ใดเลย ผมรู้ว่าผมเข้ามายืนอยู่บนพื้นดินอันศักดิ์สิทธิ์แล้ว

    เช้าวันอาทิตย์ ผมเข้าร่วมพิธีธรรมตอนเช้าของท่านปรมหังสาจีที่อารามฮอลลีวูด นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้พบท่านจริงๆ เป็นประสบการณ์ที่ไม่รู้ลืมเลือน หลังจากพิธีธรรม ท่านอาจารย์จะนั่งบนเก้าอี้แล้วให้ผู้คนเข้าไปทักทายท่าน ผมไม่สามารถอธิบายความรู้สึกขณะยืนเข้าแถวออกมาเป็นคำพูดได้ จนในที่สุด ผมมายืนต่อหน้าท่าน ท่านจับมือผม ผมมองเข้าไปในดวงตาที่เปล่งประกาย ล้ำลึกและอ่อนโยนของท่าน ไร้คำพูดใดๆ แต่ผมสัมผัสถึงความปีติสุขที่ไม่สามารถบรรยายได้ผ่านเข้ามาในตัวผมทางมือและดวงตาของท่าน

    ผมออกจากอารามและเดินอย่างงงงันบนถนนซันเซ็ท ผมเปี่ยมล้นไปด้วยความปีติจนไม่สามารถเดินตรงๆ ได้ ผมเดินโซเซเหมือนคนเมา ไม่เพียงแค่นั้น ผมไม่สามารถเก็บความปีตินั้นไว้ภายในได้ ผมต้องหัวเราะออกมาเรื่อยๆ คนที่เดินบนทางเดินเท้าหันมาจ้องมอง คนที่เดินเข้ามาทางด้านหน้าผมพากันหลบไปข้างๆ ทาง ส่ายหัวด้วยความรังเกียจคนที่พวกเขาคิดว่าเมาในที่สาธารณะตอนเช้าวันอาทิตย์ ผมไม่สนใจอะไรทั้งนั้น ผมไม่เคยมีความสุขเท่านี้มาก่อนในชีวิต

    ไม่นานหลังจากประสบการณ์นี้ ผมเข้าร่วมอาศรมของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพในฐานะนักบวช

    ภราดาเปรมาโมยี

    ภราดาเปรมาโมยีเป็นนักบวชที่เป็นลูกศิษย์ของท่านปรมหังสา โยคานันทะมากว่า 35 ปี ท่านรับหน้าที่ผู้อภิบาล รับผิดชอบให้การอบรมทางธรรมแก่นักบวชชายของคณะ จนกระทั่งท่านเสียชีวิตในปี 1990 ท่านได้เล่าเรื่องนี้ให้เหล่านักบวชชายฟัง

    ภราดาเปรมาโมยีเกิดในสโลเวเนีย ด้วยเหตุที่ครอบครัวของท่านมีความเชื่อมโยงกับราชวงศ์และผู้มีอิทธิพลอื่นๆ หลังจากที่คอมมิวนิสต์ยึดครองบ้านเกิดของท่านเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ท่านถูกบังคับให้หนีออกนอกประเทศ ในปี 1950 กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐเชิญให้ท่านอพยพไปอเมริกา

    ก่อนหน้าที่ท่านจะนั่งเรือไปนิวยอร์กตอนฤดูใบไม้ร่วงปี 1950 ภราดาเปรมาโมยีได้รับของขวัญอำลาจากเอเวลินา แกลนซมันน์ เพื่อนเก่าของครอบครัว รูปร่างของของขวัญทำให้ท่านคิดว่ามันคือกล่องลูกอม ตอนอยู่บนเรือท่านจึงเปิดออกเพื่อแบ่งให้ผู้โดยสารคนอื่น แล้วท่านก็ประหลาดใจมาก เพราะมันไม่ใช่กล่องลูกอม แต่เป็นหนังสือ— อัตชีวประวัติของโยคี

    แม้ว่าท่านจะรู้สึกประทับใจของขวัญชิ้นนี้ แต่ท่านก็ไม่ได้รู้สึกอยากอ่านในทันที แม้ว่าตอนอายุน้อยกว่านี้ ท่านจะเป็นนักอ่านตัวยง แต่ช่วงเวลานั้นก็จบไปแล้ว (ท่านบอกว่าหนังสือที่ท่านอ่านก่อนอายุ 15 มีมากกว่าหนังสือที่ท่านอ่านหลังจากนั้นทั้งชีวิตเสียอีก) ท่านยังคุ้นเคยกับปรัชญาตะวันออกเป็นอย่างดี เคยตกหลุมรักภควัทคีตาตั้งแต่เป็นวัยรุ่นและจดจำเนื้อหาส่วนใหญ่ได้ ตอนที่ท่านเห็นหัวข้อของหนังสือที่เป็นของขวัญเล่มนี้ ปฏิกิริยาแรกก็คือ “ฉันจะไม่อ่านหรอก ฉันไม่อยากติดงอมแงม!”

    ในอเมริกา ท่านเข้าไปเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจหลากหลาย จนในที่สุดได้รับการเสนอตำแหน่งให้เป็นผู้ช่วยส่วนตัวของด๊าก ฮัมมาร์เฮิลด์ เลขาธิการสหประชาชาติ (ท่านปฏิเสธตำแหน่งนี้ไปก่อนจะมาอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย) หลายเดือนผ่านไป— อัตชีวประวัติ ก็ยังคงวางอยู่บนชั้นหนังสือในบ้านของท่านในนิวยอร์ก โดยท่านไม่ได้อ่าน ระหว่างนั้น นางแกลนซมันน์ (ซึ่งเป็นผู้แปล อัตชีวประวัติ เป็นภาษาอิตาลี) ได้ขอให้เพื่อนของเธอให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังสือ แต่ภราดาเปรมาโมยีก็ยังไม่ลองอ่านดูสักที จนในที่สุดนางแกลนซมันน์เขียนข้อความที่ทำให้เกิดผลบางอย่าง “บอกมาหน่อยว่าชอบหรือไม่ ขอให้บอกอะไรมาสักหน่อยเถิด!” —วันนั้นเป็นวันเกิดท่านพอดี คือวันที่ 6 มีนาคม ท่านกำลังอยู่ในอารมณ์แห่งการใคร่ครวญว่าจะทำอย่างไรดีกับชีวิต ท่านจึงหยิบหนังสือขึ้นมาแล้วเริ่มอ่าน

    เหมือนว่าต้องมนตร์ ท่านอ่านหนังสือจบทั้งเล่มในคราวเดียว ท่านรับรู้ว่าท่านผู้เขียนมีความหยั่งรู้ทางธรรมที่เกินกว่าทุกคนที่ท่านเคยพบมา ท่านจึงตัดสินใจเขียนถึงท่านปรมหังสา โยคานันทะ

    ภราดาเปรมาโมยีไม่รู้เลยว่าขณะที่ท่านกำลังส่งจดหมาย ท่านคุรุกำลังมีชีวิตอยู่ในโลกเป็นวันสุดท้าย

    ภราดาเปรมาโมยีมารู้ว่าท่านคุรุได้ละสังขารไปแล้วหลังจากที่ได้รับจดหมายตอบกลับจากท่านศรีทยมาตา หลายเดือนผ่านไป ภราดาเปรมาโมยีไม่สามารถเอาความคิดเกี่ยวกับหนังสือและท่านผู้เขียนออกไปจากหัวได้ ฤดูร้อนปีนั้น ท่านจึงตัดสินใจขับรถไปลอสแอนเจลีสเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับคำสอนของท่านปรมหังสาจี เมื่อท่านเดินเข้าสู่สำนักงานใหญ่ของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ เป็นครั้งแรก ท่านได้รับรอยยิ้มจากคนแปลกหน้าทันที ชายผู้นั้นยิ้มกว้างและสวมกอดท่านด้วยความรักเหมือนเป็นเพื่อนเก่าที่รอคอยมานานและเปิดใจต้อนรับเป็นที่สุด ไม่มีคำพูดใด ๆ ระหว่างคนทั้งสอง หลังจากนั้นภราดาเปรมาโมยีจึงได้รับการแนะนำอย่างเป็นทางการให้รู้จักกับ “เพื่อนเก่า”คนใหม่— ที่ชื่อว่าราชรษิ ชนกนันทะ ประธานของสมาคม!

    งนั้นแล้ว หนังสือที่ท่านปรมหังสาจีกล่าวว่าจะเป็น “ทูต” แทนตัวท่าน ได้ทำอัศจรรย์กับอีกหนึ่งวิญญาณ— เพราะว่าหลังจากวันนั้นเป็นต้นมา เส้นทางชีวิตของภราดาเปรมาโมยีได้กำหนดขึ้นมา

    ซิสเตอร์ศานติ

    ในปี 1952 ฉันทำงานเป็นเลขานุการของผู้ช่วยผู้จัดการที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ บนถนนวิลเชียร์ ในลอสแอนเจลีส งานของฉันเกี่ยวข้องกับคนชั้นสูงซึ่งน่าสนใจมาก ฉันได้พบกับบุคคลระดับโลกมากมาย แต่ฉันไม่รู้เลยว่าเมื่อชื่อของคนๆ หนึ่งมากระทบหูของฉันจะส่งผลต่อชีวิตของฉันมากเพียงใด

    วันที่ 6 มีนาคม เลขานุการของผู้ผลิตภาพยนตร์คนหนึ่งโทรศัพท์มาที่โรงแรมและขอให้ส่งข้อความให้กับปรมหังสา โยคานันทะ ขณะที่ฉันได้ยินชื่อนั้น เหมือนมีเสียง “ระฆัง” ดังกังวานในอกของฉัน หัวของฉันล่องลอย ความปีติสุขเอ่อล้นขึ้นมาในหัวใจและในดวงจิต จนฉันไม่สามารถเดินตัวตรงได้ตอนเดินไปที่โต๊ะสำรองที่พักเพื่อจัดการส่งข้อความนี้ ฉันได้รับการบอกว่าไม่มีชื่อนี้จองที่พักในโรงแรม แต่ว่ามีท่านทูตอินเดียและผู้ติดตามเข้าพักอยู่ในขณะนี้ ตลอดทางเดินกลับออฟฟิศ ชื่อนี้ยังคงวนเวียนอยู่ในจิตสำนึกของฉัน และฉันรู้สึกเปี่ยมไปด้วยความรักและความปีติมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากนั้นอีกสักครู่ผู้ผลิตภาพยนตร์โทรมาถามว่า “เลขาของผมบอกชื่ออะไรคุณไป” ฉันบอกเขาว่า “ปรมหังสา โยคานันทะ” เขาร้องว่า “ผมก็คิดว่าผมได้ยินเขาพูดอย่างนั้น! นั่นไม่ใช่ชื่อที่ผมบอกไป เขาก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมถึงพูดชื่อนั้นออกมา!”

    ทั้งวันนั้นฉันอยู่ในสภาวะที่แปลกประหลาดของการตระหนักรู้ภายใน ฉันสัมผัสถึงความเชื่อมโยงกับชื่อนั้นอย่างลึกซึ้ง แล้วต่อมาก็เป็นวันที่ 7 มีนาคม วันแห่งลิขิตของท่านปรมหังสา โยคานันทะในการเข้าสู่มหาสมาธิ ฉันอ่านพบในหนังสือพิมพ์และรู้สึกเหมือนสูญเสียเพื่อนที่ดีที่สุดไป ฉันรู้สึกแย่มาก เหมือนชีวิตได้จบลงในทันใด ฉันเฝ้าแต่คิดว่า ฉันพลาดที่จะได้เจอเขาแล้ว ฉันรอเขามาทั้งชีวิตแล้วก็พลาดไปแล้ว แต่ฉันไม่รู้เลยว่าฉันหมายถึงอะไร เพราะฉันก็ไม่ได้แสวงหาครูหรือเส้นทางชีวิต แม้กระนั้น ในส่วนลึกของจิตสำนึกแล้ว ฉันรู้ว่ามันเป็นความจริงที่ฉันพลาดที่จะได้พบคนที่สำคัญที่สุดในชีวิตไปแล้ว

    จากนั้นเป็นต้นมาชีวิตที่เป็นระบบระเบียบและชีวิตที่ค่อนข้างมีสีสันไม่เหมาะกับฉันอีกต่อไป ฉันยกเลิกแผนงานที่สำคัญๆ โดยทันที เลิกที่จะพบปะผู้คนที่ฉันรู้จัก แล้วเริ่มแสวงหาผ่านหนังสือ ฉันไม่เคยคิดจะหาว่าท่านปรมหังสา โยคานันทะเคยเขียนหนังสือไว้หรือไม่ ฉันเพียงแค่คิดว่าท่านจากไปแล้วและฉันพลาดที่จะได้เจอท่าน หลังจากอ่านหนังสือด้านอภิปรัชญาไปสี่เล่ม ฉันก็ยังไม่รู้สึกได้รับการเติมเต็มความต้องการลึกๆ ฉันจึงไปหาหนังสือเพิ่มเติมจากชั้นวางหนังสือแถวเดิมในห้องสมุดประชาชนที่ฮอลลีวูดกับแม่ของฉัน แม่รู้ว่าในใจฉันมีประกายไฟบางอย่างลุกโชนอยู่ ฉันเกือบจะเดินผ่านส่วนแรกที่คิดว่าดูอย่างถี่ถ้วนหมดแล้ว หนังสือเล่มหนึ่งก็หล่นลงมาจากชั้นบนสุดโดนหัวของฉัน แล้วตกลงไปบนพื้น แม่หยิบมันขึ้นมา จับมันไว้แน่นแล้วหันหน้าหนังสือมาทางฉัน—อัตชีวประวัติของโยคี โดย ปรมหังสา โยคานันทะ ชื่อที่หัวใจฉันโหยหาอยู่ตรงหน้าฉัน พร้อมกับใบหน้าที่มีดวงตามองลึกเข้าไปถึงวิญญาณ!

    ฉันอ่านหนังสือนั้นตอนกลางคืน แม่อ่านขณะที่ฉันไปทำงาน “การอ่าน” อาจจะไม่เพียงพอที่จะบรรยายวิธีที่เราดื่มด่ำในประสบการณ์การก้าวเข้าสู่โลกแห่งสัจจะ ทั้งเรื่องจุดกำเนิดของชีวิต การเป็นศิษย์ และการเผยแผ่กริยาโยคะ—ได้รับการอธิบายอย่างชัดเจนใน อัตชีวประวัติของโยคี

    เราไปร่วมพิธีกรรมที่อารามฮอลลีวูด ซึ่งเต็มเป็นไปด้วย “ความรู้สึก” ว่ามีพลังท่วมท้นฉันอย่างที่เคยเป็นเมื่อเช้าวันแรกที่ฉันได้ยินชื่อคุรุทางโทรศัพท์ หลังจากพิธีเสร็จลง มีรมาตาต้อนรับเราด้วยความเมตตา ไม่นานหลังจากนั้นเธอแนะนำให้เราไปที่ศูนย์แม่ที่เมานต์วอชิงตันและพบกับมฤนลินีมาตา เราจึงไปที่นั่นแล้วได้เรียนรู้เกี่ยวกับคณะนักบวช ฉันถูก “ตรึง” เป็นครั้งที่สาม—หลังจากครั้งแรกโดยชื่อ ปรมหังสา โยคานันทะ ครั้งที่สองโดย อัตชีวประวัติของโยคี และครั้งนี้จากชีวิตในอุดมคติของการสละละเพื่ออุทิศตัวให้กับพระผู้เป็นเจ้าแต่เพียงผู้เดียว

    หลังจากที่ฉันเล่าเรื่องผลที่เกิดขึ้นจากการได้ยินชื่อท่านปรมหังสาจีในวันที่ 6 มีนาคม ฉันได้รับรู้ว่า ตอนเช้าวันนั้นท่านอยู่ที่โรงแรม และร่วมรับประทานอาหารเช้ากับท่านเอกอัครราชทูตอินเดีย พินัย อาร์. เสน ในห้องติดกับออฟฟิศของฉัน ท่านอาจารย์นั่งอยู่อีกด้านหนึ่งของกำแพงห้องของฉันขณะที่ฉันได้รับโทรศัพท์และได้ยินชื่อของท่าน

    ท่านคุรุได้เรียกศิษย์ทุกคน “ของท่าน” ผ่านทางอัตชีวประวัติที่ยิ่งใหญ่ของท่าน พวกเราบางคนอาจจะใช้เวลานานเกินไปหน่อยและต้องถูกตีบนหัวอย่างเช่นฉันก่อนจะตอบรับ! ถึงกระนั้นแต่ละคนในล้านคนที่ได้ยิน “เสียง” ของท่าน และตอบรับเสียงเรียกอันดังนั้นก็นับว่าเป็นผู้มีบุญยิ่งนัก

    ความคิดเห็นและบทวิจารณ์ที่โดดเด่น

    ความคิดเห็นเกี่ยวกับ อัตชีวประวัติของโยคี

    “ในฐานะบันทึกจากผู้ที่ได้ประสบพบเห็นอำนาจและชีวิตอันพิสดารของประดาโยคีฮินดูในยุคสมัยใหม่มากับตาตนเอง หนังสือเล่มนี้จึงมีความสำคัญ คือถูกจังหวะ กาละ และจะอยู่ต่อไปชั่วกาล... อัตชีวประวัติอันไม่ธรรมดาของท่านนับเป็นการเปิดเผย...ความรุ่มรวยทางธรรมของอินเดียอย่างลึกซึ้งที่สุดเท่าที่เคยตีพิมพ์มาในโลกตะวันตก”
    ดับเบิลยู. วาย. อีวานส์-เวนทซ์, M.A., D.Litt., D.Sc.,
    นักวิชาการผู้มีชื่อเสียงและผู้ประพันธ์หนังสือมากมายเกี่ยวกับศาสนาตะวันออก


    “ผมรู้สึกขอบพระคุณท่านอย่างมาก ที่ท่านได้ให้ผมเข้าถึงความเข้าใจในโลกที่น่าทึ่งนี้”
    โทมัส แมนน์,
    Nobel laureate


    “มีหนังสือจำนวนน้อยมาก... ที่จะทรงอิทธิพลต่อเทววิทยาอันเป็นที่รู้จักมากไปกว่า อัตชีวประวัติของโยคี ของท่านปรมหังสา โยคานันทะ”
    ฟิลลิส เอ. ทิกเกิ้ล

    ผู้เขียน หนังสือ God-Talk in America


    “ในหนังสือ อัตชีวประวัติของโยคี อันเลื่องลือ [ของท่านโยคานันทะ] ท่านนำเสนอเรื่องราวของ ‘จิตจักรวาล’ ที่น่าทึ่ง ซึ่งเข้าถึงได้จากการฝึกโยคะขั้นสูง พร้อมทั้งแง่คิดที่น่าสนใจมากมายในเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ตามมุมมองของโยคะและเวทานตะ”
    โรเบิร์ต เอส. เอลวูด, Ph.D.,
    ประธานวิทยาลัยศาสนาแห่งมหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นแคลิฟอร์เนีย


    อัตชีวประวัติของโยคี ควรค่าแก่การยกย่องให้เป็นหนึ่งในหนังสือทางวิถีธรรมที่ให้ทั้งความสว่างทางปัญญาและความเพลิดเพลินในการอ่านมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา”
    ทอม บัตเลอร์-บาวเดน
    ผู้เขียน 50 Spiritual Classics: Timeless Wisdom from 50 Great Books of Inner Discovery, Enlightenment & Purpose


    “นี่เป็นเรื่องราวชีวิตที่เรียบง่ายอย่างมีเสน่ห์และเปิดเผยตัวตนมากที่สุดเล่มหนึ่ง...เป็นขุมทรัพย์แห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง ผู้คนที่ยิ่งใหญ่ที่เราจะพบในหน้าหนังสือเหล่านี้...กลับสู่ความทรงจำในฐานะมิตรที่เปี่ยมด้วยปัญญาทางธรรมอันรุ่มรวย หนึ่งในผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดนี้คือตัวผู้ประพันธ์ที่ดื่มด่ำอยู่ในองค์พระผู้เป็นเจ้านั่นเอง”
    ดร. แอนนา ฟอน เฮมโฮลซ์ ฟิลัน
    ศาสตราจารย์ด้านภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยมินนิโซตา


    “ผ่านไปหลายทศวรรษ อัตชีวประวัติของโยคี ยังคงเป็นหนังสือขายดีประจำร้านของเรา ขณะที่หนังสืออื่นผ่านมาแล้วผ่านไป หนังสือเล่มนี้ยังคงอยู่เพราะผ่านการตั้งคำถามอย่างวิพากษ์มาเป็นเวลานาน จนแสดงให้เห็นว่าหนังสือนี้ได้เปิดประตูสู่การเติมเต็มทางธรรมอย่างลึกซึ้งและน่าศรัทธา”
    ร้านหนังสือโพธิทรี ในลอสแอนเจลีส


    “ผมเก็บ อัตชีวประวัติของโยคี เอาไว้รอบบ้านเป็นตั้งๆ เพื่อไว้แจกคน เวลาที่เห็นใครต้องการหาสมดุลชีวิต ผมจะบอกให้ลองเอาไปอ่านดู เพราะหนังสือเล่มนี้ ตัดลึกเข้าถึงหัวใจของทุกศาสนา”
    จอร์จ แฮร์ริสัน


    “คงเป็นเรื่องยากเย็นที่จะเจอคนบนหนทางแห่งธรรม ที่ชีวิตไม่ได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมที่ลึกซึ้งนี้ หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมเริ่มต้นเดินบนหนทางแห่งโยคะ สมาธิและการแสวงหาตัวเองที่ต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้”
    แจ็ค แคนฟิลด์
    ผู้ร่วมสร้าง Chicken Soup for the Soul® series


    อัตชีวประวัติของโยคี นี้ถือเป็นคัมภีร์อุปนิษัทแห่งยุคสมัยใหม่... สามารถตอบสนองความกระหายทางธรรมของผู้แสวงหาสัจธรรมทั่วทุกมุมโลกได้ ด้วยความทึ่งและอัศจรรย์ใจ พวกเราที่อยู่ในอินเดียต่างเฝ้ามองปรากฏการณ์ที่ผู้คนทั่วโลกหันมาสนใจเรื่องราวของโยคีและปรัชญาอินเดียกันมากขึ้นเพราะความนิยมในหนังสือเล่มนี้เป็นเหตุ เรารู้สึกพอใจและภาคภูมิใจที่หยาดน้ำอมฤตแห่งสนาตนธรรม หรือกฎแห่งสัจธรรมอันเป็นนิรันดร์ของอินเดีย ได้รับการเก็บรักษาเอาไว้เป็นอย่างดีในถ้วยทองคำของหนังสืออัตชีวประวัติของโยคี”
    ดร. อศุทศ ทาส, M.A., Ph.D., D.Litt.,
    ศาสตราจารย์ แห่งมหาวิทยาลัยกัลกัตตา


    “มีหนังสือในภาษาตะวันตกมากมายที่ว่าด้วยเรื่องปรัชญาอินเดียและโดยเฉพาะเรื่องโยคะ แต่ไม่มีเล่มใดที่เปิดเผยให้เราเห็นถึงประสบการณ์ของผู้ที่หลอมรวมเป็นหนึ่งและดำรงชีวิตด้วยหลักการเหล่านั้น”
    ดร. เคิร์ท เอฟ. ไลเดคเกอร์
    ศาสตราจารย์ด้านปรัชญา มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย


    “ผมพบท่านปรมหังสา โยคานันทะสองครั้งตอนผมเป็นเด็กในช่วงทศวรรษที่ 1930 ...ยี่สิบปีให้หลัง มีคนให้หนังสือ อัตชีวประวัติของโยคี กับผม ทันทีที่ผมเริ่มอ่าน หนังสือทำบางสิ่งต่อผม ที่ผมบรรยายออกมาไม่ได้ ผมเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับโยคะ โดยโยคีมาแล้วมากมาย แต่ผมไม่เคยประทับใจเท่ากับเล่มนี้ หนังสือนี้มีมนตร์ขลัง”
    ระวี ซันการ์
    นักดนตรีคลาสสิกอินเดีย


    “หนังสือที่ผมฝันจะเป็นผู้เขียนมากที่สุดคือ อัตชีวประวัติของโยคี โดย ท่านปรมหังสา โยคานันทะ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ผมจะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์เหลือเชื่อทั้งหลายทั้งปวงที่ท่านเล่าจากการเติบโตในอินเดียตอนช่วงต้นของศตวรรษ ใครจะไม่อยากรู้จักเหล่าคุรุอันแท้จริงและเหล่านักบุญที่ยังมีชีวิตอยู่บ้างเล่า”
    น.พ. แอนดรูว์ ไวลล์
    ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ และผู้เขียนหนังสือ Eight Weeks to Optimum Health


    “สำหรับผู้ที่สนใจเรียนรู้ปรัชญาตะวันออกและวิธีปฏิบัติสมาธิ...หนังสือที่เติมเต็มชีวิตฉันอย่างล้นเหลือ และเป็นหนังสือเล่มโปรดของคนอีกหลายพันหลายหมื่น [คือ] อัตชีวประวัติของโยคี .... [ท่านปรมหังสา โยคานันทะ] เป็นนักเขียนที่รุ่มรวย และนักบวชที่อุทิศตนอย่างแรงกล้า หนังสืออัตชีวประวัติของท่านเป็นหนังสือที่น่าสนใจที่สุดเล่มหนึ่งที่เรามีในปัจจุบัน”
    เคท ทัทเทิล
    San Diego Union-Tribune

    ซื้อหนังสือ

    อัตชีวประวัติของโยคี ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 50 จัดแสดงโดยนักบวชและเจ้าหน้าที่ของเอสอาร์เอฟ ที่ศูนย์การพิมพ์เอสอาร์เอฟ

    Py Ay Translations Dsc 4112 Exp Cropped

    ฉบับพิมพ์ปกอ่อน


    อัตชีวประวัติของโยคี ยังมีในรูปแบบของ:

    flower

    ภาษาเยอรมัน (German)

    ภาษาสเปน (Spanish)

    ภาษาโปรตุเกส (Portuguese)

    ภาษาอิตาลี (Italian)

    ภาษาฝรั่งเศส (French)

    ภาษาญี่ปุ่น (Japanese)

    ภาษาแอลแบเนีย (Albanian)

    ภาษาอาร์เมเนีย (Armenian)

    ภาษาบัลแกเรีย (Bulgarian)

    ภาษาจีน (ตัวย่อ) Chinese (Simplified)

    ภาษาจีน (ตัวเต็ม) Chinese (Traditional)

    ภาษาโครเอเชีย (Croatian)

    ภาษาเดนมาร์ก (Danish)

    ภาษาดัตช์ (Dutch)

    ภาษาเอสโตเนีย (Estonian)

    ภาษาฟาร์ซิ (Farsi)

    ภาษาฟิลิปปินส์ (Filipino)

    ภาษาฟินแลนด์ (Finnish)

    ภาษากรีก (Greek)

    ภาษาฮิบรู (Hebrew)

    ภาษาฮังการี (Hungarian)

    อินเดีย - 15 ภาษา (Indian - 15 Languages)

    ภาษาอินโดนีเซีย (Indonesian)

    ภาษาคาซัค (Kazakh)

    ภาษาเกาหลี (Korean)

    ภาษาลัตเวีย (Latvian)

    ภาษาลิทัวเนีย (Lithuanian)

    ภาษานอร์เวย์ (Norwegian)

    ภาษาโปแลนด์ (Polish)

    ภาษาโรมาเนีย (Romanian)

    ภาษารัสเซีย (Russian)

    ภาษาเซอร์เบีย (Serbian)

    ภาษาสวีเดน (Swedish)

    ภาษาไทย (Thai)

    ภาษาตุรกี (Turkish)

    ภาษายูเครน (Ukranian)

    ภาษาเวียดนาม (Vietnamese)