Back to Schedule
Donate

    ในช่วงเวลาหนึ่งร้อยปีหลังจากการถือกำเนิดของท่านปรมหังสา โยคานันทะ คุรุผู้เป็นที่รักยิ่งของโลกท่านนี้ ได้รับการยอมรับว่าเป็นทูตที่นำปัญญาญาณโบราณของอินเดียไปสู่โลกตะวันตกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดท่านหนึ่ง ชีวิตและคำสอนของท่านเป็นขุมทรัพย์แห่งความสว่างและแรงบันดาลใจของผู้คนทุกเชื้อชาติ วัฒนธรรมและความเชื่อตลอดมา

    ชีวิตวัยเยาว์และการแสวงหาทางธรรม

    ท่านปรมหังสา โยคานันทะ หรือมุกุณฑะ ลาล โฆษ เกิดเมื่อวันที่ 5 มกราคม 1893 ณ เมืองโครักขะปุระ ในครอบครัวชาวเบงกอลที่มีศรัทธาและมีฐานะดี เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ใกล้ชิดท่านว่า ตั้งแต่ในวัยเยาว์ การรับรู้และประสบการณ์ทางธรรมของท่านนั้นลึกซึ้งเกินกว่าคนทั่ว ๆ ไป

    ทั้งพ่อและแม่ของท่านเป็นลูกศิษย์ของท่านลาหิริ มหัสยะ คุรุผู้ยิ่งใหญ่ผู้มีบทบาทสำคัญในการรื้อฟื้นกริยาโยคะในอินเดียยุคใหม่ ทารกน้อยโยคานันทะในอ้อมแขนของแม่ได้รับพรจากท่านลาหิริ มหัสยะ และท่านได้ทำนายไว้ว่า “เยาวมาตาเอ๋ย บุตรชายของเจ้าจักบวชเป็นโยคี เขาจักเป็นผู้นำทางธรรมนำพาวิญญาณจำนวนมากให้ก้าวล่วงสู่อาณาจักรของพระเป็นเจ้า”

    เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยหนุ่ม มุกุณฑะแสวงหามุนีและนักบุญแห่งอินเดีย หวังจะได้พบคุรุผู้รู้แจ้งนำทางในการแสวงหาทางธรรม ตอนท่านอายุ 17 ปีใน ค.ศ. 1910 ท่านได้พบกับท่านสวามีศรียุกเตศวร คีรี และได้ฝากตัวเป็นศิษย์ ท่านโยคานันทะใช้ชีวิตในอาศรมของท่านมหาโยคาจารย์ท่านนี้เป็นเวลาสิบปี รับหลักปฏิบัติวิถีธรรมจากท่านศรียุกเตศวรผู้เคร่งครัดทว่าเปี่ยมด้วยความรัก

    ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้พบกันและในอีกหลายโอกาสหลังจากนั้น ท่านศรียุกเตศวรบอกศิษย์รุ่นเยาว์ของท่านว่า ท่านโยคานันทะได้รับการเลือกให้เป็นผู้เผยแผ่ศาสตร์โบราณของกริยาโยคะในอเมริกาและทั่วโลก

    หลังจากจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยกัลกัตตาในปี 1915 มุกุณฑะได้บรรพชาเป็นนักบวชของสำนักสวามีแห่งอินเดีย ได้นาม โยคานันทะ (ได้รับพรอันเกษม อานันทะ ด้วยการหลอมรวมกับพระเจ้า - โยคะ) ความปรารถนาอันร้อนแรงที่จะอุทิศชีวิตเพื่อความรักและการรับใช้พระผู้เป็นเจ้าจึงได้รับการเติมเต็ม

    เริ่มต้นภารกิจเพื่อโลก

    ปี 1917 ท่านโยคานันทะเริ่มต้นงานแห่งชีวิตของท่าน โดยการก่อตั้งโรงเรียน “วิธีใช้ชีวิต” สำหรับเด็กผู้ชาย ประสมประสานวิธีการศึกษาสมัยใหม่กับการฝึกโยคะ และสอนอุดมคติวิถีธรรม มหาราชาแห่งกาซิมบาซาร์ได้ยกวังฤดูร้อนในรานจี (ประมาณ 250 ไมล์จากกัลกัตตา) ให้เป็นที่ตั้งโรงเรียน ไม่กี่ปีต่อมา มหาตมา คานธีได้ไปเยี่ยมโรงเรียนและเขียนไว้ว่า “สถาบันนี้ประทับใจข้าพเจ้าอย่างลึกซึ้ง”

    Py Ranchi School 1918
    นักเรียนและครูของโรงเรียน “วิธีใช้ชีวิต” ที่ก่อตั้งโดยท่านโยคานันทะ (ตรงกลางด้านขวา) ในรานจี ปี 1918

    วันหนึ่งในปี 1920 ขณะที่ท่านโยคานันทะกำลังทำสมาธิอยู่ในโรงเรียนที่รานจี ท่านได้รับนิมิตจากพระผู้เป็นเจ้า ให้ท่านทราบว่านี่เป็นเวลาเริ่มต้นการทำงานในโลกตะวันตก ท่านรีบเดินทางไปกัลกัตตา และวันต่อมาได้รับเชิญเป็นตัวแทนของอินเดียไปร่วมประชุมสภาผู้นำศาสนานานาชาติ ซึ่งจะจัดขึ้นที่นครบอสตันในปีนั้น ท่านศรียุกเตศวรยืนยันว่านี่เป็นเวลาที่เหมาะสม โดยท่านกล่าวว่า “ประตูทุกบานเปิดให้กับเธอแล้ว ถ้าไม่ใช่ตอนนี้ก็จะไม่มีวันได้ไปอีกเลย”

    ไม่นานก่อนที่ท่านโยคานันทะจะออกเดินทาง ท่านมหาวตาร บาบาจี ได้มาพบท่าน ท่านบาบาจีเป็นปรมคุรุผู้ไม่มีวันตาย ผู้รื้อฟื้นศาสตร์โบราณแห่งกริยาโยคะในยุคสมัยนี้ “เจ้าคือผู้ที่เราเลือกให้ไปเผยแผ่ศาสตร์แห่งกริยาโยคะยังโลกตะวันตก” ท่านบาบาจีกล่าวต่อท่านโยคานันทะ “เมื่อนานมาแล้ว เราได้พบกับศรียุกเตศวรผู้เป็นคุรุของเจ้าที่งานกุมภเมลา และได้บอกกับเขาว่า เราจะส่งเจ้าไปให้เขาอบรมสั่งสอน กริยาโยคะเป็นวิธีปฏิบัติในการเข้าถึงพระเป็นเจ้าที่เป็นวิทยาศาสตร์ ท้ายที่สุด ศาสตร์ดังกล่าวจะแพร่หลายไปทั่วทุกแดนดิน และจะประสานชาติต่าง ๆ เข้าด้วยกันได้ โดยอาศัยญาณหยั่งรู้พระบิดาเจ้าอันอยู่เหนือมิติโลกของมนุษย์แต่ละรูปแต่ละนาม”

    สวามีหนุ่มเดินทางถึงบอสตันในเดือนกันยายน ปี 1920 ปาฐกถาแรกของท่านในที่ประชุมของสภาศาสนาเสรีนานาชาติ คือเรื่อง “ศาสตร์แห่งศาสนา” ได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่ง ในปีเดียวกันนั้น ท่านได้ก่อตั้งเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ เพื่อเผยแผ่คำสอนของท่านเกี่ยวกับศาสตร์โบราณของอินเดียและปรัชญาของโยคะ รวมทั้งวิธีการทำสมาธิข้ามกาลเวลาไปทั่วโลก ศูนย์ทำสมาธิแห่งแรกของเอสอาร์เอฟก่อตั้งขึ้นในบอสตัน โดยความช่วยเหลือของ ดร. และนางเอ็ม ดับบลิว ลิวอิส และนางอลิซ เฮซีย์ (ซิสเตอร์โยคมาตา) ผู้คนเหล่านี้กลายมาเป็นลูกศิษย์ไปตลอดชีวิต

    Copy Of 1920 Py 2008 04 C
    บางส่วนของผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมสภาศาสนาเสรีนานาชาติ เมื่อเดือนตุลาคม ปี 1920 ที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซ็ทส์ ที่ซึ่งท่านโยคานันทะ (ที่สองจากขวา) กล่าวปาฐกถาเป็นครั้งแรกในอเมริกา

    ท่านใช้เวลาหลายปีต่อมาบรรยายและสอนอยู่ทางฝั่งอเมริกาภาคตะวันออก และเริ่มเดินทางบรรยายทั่วทวีปในปี 1924 ท่านเดินทางมาถึงลอสแอนเจลีสต้นปี 1925 และได้ก่อตั้ง สำนักงานใหญ่นานาชาติ ของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพบนยอดเขาเมานต์วอชิงตัน ที่นี่ได้กลายมาเป็นสำนักธรรมและหัวใจของการบริหารงานอันเติบโตตลอดมาของท่าน

    Py Biography Beloved Teacher Beginning Of The World Mission

    ผู้ริเริ่มโยคะในโลกตะวันตก

    ตั้งแต่ปี 1924 ถึงปี 1935 ท่านโยคานันทะเดินทางและบรรยายอย่างกว้างขวาง ท่านได้พูดต่อหน้าผู้ฟังที่มากันเต็มห้องประชุมใหญ่ที่สุดในอเมริกา —ไม่ว่าจะเป็นคาร์เนกีฮอลล์ในนิวยอร์ก ไปจนถึงหอประชุมฟิลฮาร์โมนิค ในลอสแอนเจลีส หนังสือพิมพ์ลอสแอนเจลีส ไทมส์ รายงานว่า “เกิดภาพที่พิเศษเกินธรรมดาของผู้คนหลายพันคนที่หอประชุมฟิลฮาร์โมนิค ซึ่งต้องผิดหวังกลับไปตั้งแต่หนึ่งชั่วโมงก่อนเวลาการบรรยายตามที่ได้ประกาศไว้ ที่นั่งทั้ง 3,000 ที่ถูกจับจองจนเต็มทั้งหมด”

    Py A Pioneer Of Yoga In The West 4

    ท่านโยคานันทะย้ำถึงความเป็นหนึ่งเดียวที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังศาสนาสำคัญ ๆ ของโลก และสอนวิธีสากลที่นำไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เข้าถึงการมีประสบการณ์ตรงกับพระเจ้า สำหรับนักเรียนที่ศึกษาคำสอนของท่านอย่างตั้งใจจริง ท่านสอนวิธีปฏิบัติเพื่อการตื่นรู้ของวิญญาณที่เรียกว่า กริยาโยคะ ท่านได้ทำพิธีถ่ายทอดให้กับชายและหญิงมากกว่า 100,000 คน ตลอดระยะเวลาสามสิบปีในโลกตะวันตก

    ในบรรดาศิษย์ของท่าน มีผู้ที่มีชื่อเสียงในวงการวิทยาศาสตร์ ธุรกิจ และศิลปะ เช่น ลูเธอร์ เบอร์แบงก์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพืชสวน, อาเมลิตา กัลลิ คัวร์ชี นักร้องโอเปร่าเสียงโซปราโน, จอร์จ อีสต์แมน (ผู้ผลิตกล้องถ่ายรูปโกดัก), กวีเอ็ดวิน มาร์คัม และลีโอโปลด์ สโตโกสกี้ วาทยากรวงซิมโฟนี รวมอยู่ด้วย ในปี 1917 ท่านได้รับเชิญอย่างเป็นทางการจากประธานาธิบดีแคลวิน คูลิดจ์ ให้ไปเยือนทำเนียบขาว โดยท่านประธานาธิบดีติดตามรายงานข่าวกิจกรรมของท่านทางหน้าหนังสือพิมพ์ด้วยความเอาใจใส่

    ในปี 1929 ระหว่างที่ท่านเดินทางไปเยือนประเทศเม็กซิโกเป็นเวลาสองเดือน ท่านได้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งงานของท่านที่จะเจริญงอกงามในละตินอเมริกา ในอนาคต ท่านได้รับการต้อนรับจากประธานาธิบดีเม็กซิโก ดร. เอมิลิโอ ปอร์เตส กิล ผู้ซึ่งกลายมาเป็นผู้ชื่นชมคำสอนของท่านโยคานันทะไปชั่วชีวิต

    Py A Pioneer Of Yoga In The West 5
    ลูเธอร์ เบอร์แบงก์และท่านปรมหังสา โยคานันทะ ปี 1924
    Py Biography A Pioneer Of Yoga In The West
    ฯพณฯ เอมิลิโอ ปอร์เตส กิล ประธานาธิบดีเม็กซิโก และศรีโยคานันทะ ที่นครเม็กซิโก ในปี 1929

    พบศิษย์คนสำคัญ

    ในช่วงกลางทศวรรษ 1930 ท่านปรมหังสาจีได้พบกับศิษย์แรกเริ่มหลายคนที่จะมาช่วยงานของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ และนำพาพันธกิจแห่งกริยาโยคะให้ก้าวหน้าต่อไปหลังจากที่ท่านละสังขาร —ซึ่งในที่นี้รวมถึงผู้ที่ท่านได้มอบหมายให้เป็นผู้สืบทอดทางธรรมในฐานะประธานของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพสองท่านคือ ราชรษิ ชนกนันทะ (เจมส์ เจ. ลินน์) ซึ่งพบกับท่านคุรุที่เมืองแคนซัส ในปี 1932 และศรีทยมาตา ซึ่งเข้าร่วมชั้นเรียนของท่านที่เมืองซอลต์เลค ในปีก่อนหน้า

    Py A Pioneer Of Yoga In The West 3
    ท่านปรมหังสา โยคานันทะและศรีทยมาตา ที่อาศรมเอนซินิตัส ในปี 1939
    Py A Pioneer Of Yoga In The West 2
    ท่านปรมหังสา โยคานันทะ และ เจมส์ เจ ลินน์ หรือภายหลังได้ชื่อว่า ราชรษิ ชนกนันทะ ที่สำนักงานใหญ่นานาชาติเอสอาร์เอฟ-วายเอสเอส ที่ลอสแอนเจลีสในปี 1933

    ศิษย์คนอื่นๆ ที่เข้าฟังการบรรยายของท่านในช่วงทศวรรษที่ 1920 และ 1930 แล้วก้าวเข้ามาอุทิศตนเพื่องานของเอสอาร์เอฟ ก็เช่น ดร. และนาง เอ็ม. ดับบลิว. ลิวอิส ซึ่งพบท่านในบอสตันเมื่อปี 1920, คยานมาตา (ซีแอตเติล ปี 1924), ตารมาตา (ซานฟรานซิสโก ปี 1924), ทุรคามาตา (ดีทรอยต์ ปี 1929), อนันทามาตา (เมืองซอลต์เลค ปี 1931), ศรัทธมาตา (ทาโคมา ปี 1933), ไศลสุตมาตา (ซานตาบาบารา ปี 1933)

    ดังนั้นแล้ว แม้ว่าจะหลายปีหลังจากที่ท่านโยคานันทะละสังขาร จนกระทั่งทุกวันนี้ เซลฟ์ รีละไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพยังได้รับการนำทางจากลูกศิษย์ที่ได้รับการสั่งสอนธรรมโดยตรงจากท่านปรมหังสา โยคานันทะ

    ในช่วงปีแรก ๆ ของการทำงานของท่านโยคานันทะ การบรรยายและการสอนของท่านถูกบันทึกไว้อย่างไม่ต่อเนื่องนัก อย่างไรก็ดี เมื่อท่านศรีทยมาตา (ซึ่งภายหลังเป็นประธานขององค์กรนานาชาติของท่าน) ได้เข้าร่วมในอาศรมของท่านเมื่อปี 1931 ท่านได้ทำงานอันศักดิ์สิทธิ์นี้อย่างตั้งใจ โดยบันทึกการบรรยาย การสอนและการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการของท่านโยคานันทะเป็นจำนวนหลายร้อยชิ้น ทำให้ปัญญาญาณและแรงบันดาลใจของท่านคุรุได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างมีพลังและบริสุทธิ์ตามแบบฉบับดั้งเดิม ทำให้เซลฟ์ รีอะไลเซชั่นนำไปตีพิมพ์เพื่อคนรุ่นหน้าได้ศึกษาต่อไป

    กลับสู่อินเดีย

    ปี 1935 ท่านโยคานันทะเดินทางกลับประเทศอินเดียเพื่อไปเยี่ยมคุรุผู้ยิ่งใหญ่ของท่าน (ท่านศรียุกเตศวรละสังขารเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 1936) เป็นครั้งสุดท้าย ท่านเดินทางด้วยเรือและรถยนต์ผ่านยุโรป ปาเลสไตน์ และอียิปต์ จนถึงบอมเบย์ในฤดูร้อนของปี 1935

    Py Return To India 2
    ท่านศรียุกเตศวรและท่านโยคานันทะจี ในกัลกัตตา ปี 1935

    ช่วงปีที่ท่านโยคานันทะพำนักอยู่ในแผ่นดินเกิด ท่านได้เปิดชั้นเรียนและทำพิธีถ่ายทอดกริยาโยคะในเมืองต่าง ๆ ทั่วอนุทวีป ท่านชื่นชมการได้พบกับมหาตมา คานธี ผู้ขอรับกริยาโยคะจากท่าน พบกับเซอร์ ซี. วี. รามัน นักฟิสิกส์เจ้าของรางวัลโนเบล และบุคคลสำคัญด้านจิตวิญญาณที่มีชื่อเสียงของอินเดีย รวมทั้งท่านรามณะมหาฤษี และท่านอนันทาโมยีมา

    ในช่วงปีนี้เองที่ท่านศรียุกเตศวรได้มอบสมณศักดิ์สูงสุดของอินเดียคือปรมหังสาให้ท่านโยคานันทะ คำนี้แปลตรงตัวว่า “หงส์อันสูงสุด” (สัญลักษณ์แห่งการแยกแยะทางจิตและวิญญาณ) ตำแหน่งนี้หมายความถึงผู้ที่ได้เข้าสู่สภาวะเป็นหนึ่งเดียวกับพระผู้เป็นเจ้าอย่างถึงที่สุด

    Py Return To India
    ศรีโยคานันทะและมหาตมา คานธี ที่วารธา ปี 1935

    ขณะที่อยู่ในอินเดีย ท่านโยคานันทะทำให้พื้นฐานงานของท่านที่นั่นคือ สมาคมโยโคทะสัตสังคะ แห่งอินเดีย มีความมั่นคงอย่างถาวร สมาคมนี้ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นที่สำนักงานใหญ่ (ด้านล่าง) ในทักษิเณศวร (บนฝั่งแม่น้ำคงคา ใกล้เมืองกัลกัตตา) จนไปถึงอาศรมดั้งเดิมในรานจี มีทั้งโรงเรียน อาศรมต่างๆ ศูนย์สมาธิ และงานเพื่อช่วยเหลือสังคมอยู่ทั่วอนุทวีป

    Py Return To India 3

    ปลายปี 1936 ท่านเดินทางกลับอเมริกา และอยู่ที่นั่นจนชั่วชีวิต

    วางรากฐานทางธรรม

    ช่วงทศวรรษที่ 1930 ท่านปรมหังสา โยคานันทะเริ่มวางมือจากการเดินทางบรรยายธรรมทั่วประเทศ ท่านทุ่มเทให้กับงานเขียนที่จะนำสารของท่านไปสู่ชนรุ่นต่อๆ ไป และสร้างรากฐานที่มั่นคงทางวิถีธรรมและงานด้านมนุษยธรรมของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ /สมาคมโยโคทะสัตสังคะ แห่งอินเดีย

    ภายใต้การนำทางของท่าน คำแนะนำและคำสอนส่วนตัวที่ท่านมอบให้กับนักเรียนในชั้นเรียนได้รับการเรียบเรียงเป็นบทเรียน เซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ สำหรับศึกษาด้วยตนเอง ซึ่งเป็นชุดบทเรียนที่ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ในปัจจุบัน ผู้สนใจสามารถสมัครรับบทเรียนเหล่านี้ได้ เช่นเดียวกับตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่

    Py A Spiritual Foundation 3

    อาศรมอันงดงามมองเห็นมหาสมุทรแปซิฟิค ที่เอนซินิตัส แคลิฟอร์เนีย ถูกสร้างขึ้นเพื่อท่านคุรุระหว่างที่ท่านกลับไปอินเดีย โดยราชรษิ ชนกนันทะ ศิษย์รักของท่าน ณ ที่นี้ ท่านคุรุใช้เวลาหลายปีเขียนอัตชีวประวัติและงานเขียนอื่นๆ และเริ่มโปรแกรมเข้าเงียบของเอสอาร์เอฟ ซึ่งยังคงมีอยู่จนถึงทุกวันนี้

    Py A Spiritual Foundation 1

    ท่านยังก่อตั้งอารามของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพอีกหลายแห่ง (เอนซินิตัส, ฮอลลีวูด, และซานดิเอโก) ที่ซึ่งท่านไปบรรยายธรรมอย่างสม่ำเสมอให้กับสมาชิกเอสอาร์เอฟผู้อุทิศตนและผองเพื่อน หัวข้อบรรยายครอบคลุมประเด็นทางธรรมอย่างกว้างขวาง ธรรมบรรยายจำนวนมาก ถูกบันทึกไว้โดยศรีทยมาตา และเอสอาร์เอฟได้จัดพิมพ์เป็นชุดหนังสือสามเล่ม ที่มีชื่อว่า Yogananda's Collected Talks and Essays นอกจากนั้นยังได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น

    อัตชีวประวัติของโยคี หนังสือเกี่ยวกับชีวิตของท่านโยคานันทะ ได้รับการตีพิมพ์เมื่อปี 1946 (และท่านได้ปรับปรุงเพิ่มเติมในฉบับต่อมา) หนังสือขายดีตลอดกาลเล่มนี้ถูกตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่การพิมพ์ครั้งแรก และได้รับการแปลหลายภาษา ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นหนังสือคลาสสิกทางจิตวิญญาณของโลกสมัยใหม่

    ในปี 1950 ท่านปรมหังสาจีจัดงานเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ เวริล์ คอนโวเคชั่น ที่ศูนย์กลางนานาชาติในลอสแอนเจลีส งานที่ยาวหนึ่งสัปดาห์นี้ดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกนับพันคนในปัจจุบัน นอกจากนั้นท่านยังทำพิธีเปิดเอสอาร์เอฟเลคชไรน์ ในย่านแปซิฟิค พาลิเซดส์ เถ้าอัฐิส่วนหนึ่งของมหาตมา คานธีได้รับการบรรจุอยู่ในสวนสมาธิริมทะเลสาบกว้างสิบเอเคอร์ ตั้งแต่นั้นที่นี่ได้กลายมาเป็นสถานที่สำคัญทางธรรมแห่งหนึ่งของแคลิฟอร์เนีย

    Py A Spiritual Foundation

    ช่วงท้ายของชีวิตและมหาสมาธิ

    ท่านปรมหังสา โยคานันทะใช้ชีวิตช่วงท้ายหลีกเร้นตามลำพังเป็นส่วนใหญ่ เพื่อทุ่มเทให้กับงานประพันธ์ ซึ่งมีทั้งอรรถาธิบายเล่มใหญ่ของภควัทคีตาและคำสอนของพระเยซูคริสต์ในพระวรสารทั้งสี่ รวมไปถึงการปรับปรุงงานเขียนในช่วงแรก เช่น Whispers from Eternity และบทเรียนเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ
    ท่านใช้เวลาทำงานอย่างยาวนานกับศรีทยมาตา, มฤนลินีมาตา และศิษย์ใกล้ชิดคนอื่นๆ เพื่อให้คำชี้นำด้านธรรม และด้านองค์กร อันจะช่วยให้พวกเขาสานต่องานทั่วโลกของท่านหลังจากที่ท่านละสังขารไปแล้ว

    ท่านกล่าวแก่พวกเขาว่า:

    “ร่างกายของเราจักสูญสลายไป แต่งานของเราจะยังคงดำเนินต่อไป และวิญญาณของเราจะยังคงอยู่ แม้เมื่อเราจากไปแล้ว แต่เราจะยังทำงานกับพวกเธอทั้งหมด เพื่อช่วยนำพาสารจากพระผู้เป็นเจ้ามาสู่โลก

    “ผู้ที่เข้ามาสู่เซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ เพื่อแสวงหาความช่วยเหลือทางธรรมภายในอย่างแท้จริง จะได้รับในสิ่งที่ตนแสวงหาจากพระเจ้า ไม่ว่าพวกเขาจะมาตอนที่เรายังอยู่ในกายนี้ หรือหลังจากนั้น พลานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าที่ส่งผ่านมาทางสายคุรุแห่งเอสอาร์เอฟ จะหลั่งไหลไปยังผู้ภักดีเช่นเดิม และนั่นจะเป็นเหตุแห่งการหลุดพ้นของพวกเขา... ท่านบาบาจีที่มีชีวิตอยู่ตลอดนิรันดร์สัญญาว่าจะพิทักษ์และนำทางความก้าวหน้าของผู้ภักดีอย่างจริงใจของเอสอาร์เอฟทุกคน ท่านลาหิริ มหัสยะและท่านศรียุกเตศวร ที่ได้ละกายเนื้อนี้ไปแล้ว และตัวเราเอง แม้เมื่อเราละสังขาร— ทุกท่านจะปกป้องและนำทางสมาชิกผู้จริงใจของเอสอาร์เอฟ – วายเอส เอสตลอดไป”

    วันที่ 7 มีนาคม ปี 1952 มหาคุรุได้เข้าสู่มหาสมาธิ หรือการที่จิตเห็นแจ้งในพระเจ้าของคุรุได้ ละสังขารอย่างมีสติ ในเวลาแห่งความตายของกายเนื้อ ขณะจบคำกล่าวปาฐกถาสั้นๆ ในงานเลี้ยงรับรองเป็นเกียรติแก่ท่านเอกอัครราชทูตอินเดีย พินัย อาร์. เสน ที่โรงแรมบิลท์มอร์ ในลอสแอนเจลีส

    การละสังขารของท่านเป็นปรากฏการณ์เหนือธรรมดา หนังสือรับรองที่ลงนามโดยประธานของฟอเรสต์ ลอว์น เม็มโมเรียลพาร์ค ยืนยันว่า “ไม่มีการเน่าเปื่อยทางกายภาพใดๆ ที่แลเห็นได้ในร่างของท่าน แม้เวลาหลังจากการละสังขารของท่านจะผ่านไปแล้วถึงยี่สิบวัน ... เท่าที่ทราบจากประวัติการทำงานด้านนี้ของเรา การที่ศพจะอยู่ในสภาพสมบูรณ์เช่นนี้ถือเป็นเรื่องซึ่งไม่เคยมีมาก่อน... ร่างของท่านโยคานันทะยังคงอยู่ในสภาพไม่ปลี่ยนแปลง”

    หลายปีก่อนหน้า สวามีศรียุกเตศวร คุรุของท่านปรมหังสา โยคานันทะ ขนานนามท่านว่าเป็นอวตารแห่งความรักของพระผู้เป็นเจ้า หลังจากนั้น ราชรษิ ชนกนันทะ ศิษย์และผู้สืบทอดทางธรรมคนแรก ขนานนามให้ท่านได้อย่างเหมาะสมว่าเปรมอวตาร หรือ “อวตารแห่งความรักของพระผู้เป็นเจ้า”

    เนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปี แห่งการละสังขารของท่านปรมหังสา โยคานันทะ รัฐบาลอินเดียได้รับรองอย่างเป็นทางการถึงงานที่ท่านทำอย่างกว้างขวางเพื่อพัฒนาจิตและวิญญาณของมนุษยชาติ รัฐบาลได้ออกแสตป์ที่ระลึกเพื่อเป็นเกียรติแก่ท่าน พร้อมกับข้อความสดุดี ความบางตอนมีว่า:

    “ความรักสูงสุดที่มีต่อพระเจ้าและการอุทิศตนให้บริการแก่มวลมนุษยชาติปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดในชีวิตของท่านปรมหังสา โยคานันทะ... แม้ท่านจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่นอกประเทศอินเดีย แต่ท่านโยคานันทะคงมีที่เฉพาะของท่านสถิตร่วมอยู่กับนักบุญผู้ยิ่งใหญ่ของเรา งานของท่านยังคงเติบโตต่อเนื่อง ฉายแสงเรืองรองยิ่งกว่าเดิม ดึงผู้คนจากทุกหนแห่งสู่เส้นทางการแสวงบุญสู่พระผู้เป็นเจ้า”

    ปี 2017 ฯพณฯ ศรี นเรนทระ โมดี กล่าวสดุดีท่านปรมหังสาจีในงานฉลองพิเศษ ที่กรุงนิวเดลี เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2017 รัฐบาลอินเดียได้ออกแสตมป์ใหม่เพื่อฉลองครบรอบ 100 ปี ของสมาคมโยโคทะสัตสังคะ โดยใช้วันดังกล่าวเพื่อเป็นเกียรติแก่ การมหาสมาธิของท่านปรมหังสาจี

    ท่านนายกรัฐมนตรีกล่าวในสุนทรพจน์ที่สร้างแรงบันดาลใจว่า ท่านปรมหังสาจีเป็นโยคีและคุรุผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งของอินเดีย ชีวิตและงานของท่านแสดงให้โลกเห็นถึงคุณค่าทางธรรมอันมหาศาลของอินเดีย พร้อมกับกล่าวชื่นชมวายเอสเอสที่สามารถรักษามรดกทางธรรมของผู้ก่อตั้งเอาไว้ได้ ด้วยการเผยแพร่มรดกอันเก่าแก่ของอินเดียออกสู่โลกยุคใหม่

    ในปี 2014 Awake: The Life of Yogananda ภาพยนตร์สารคดีที่ได้รับรางวัล นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตและงานของท่านปรมหังสา โยคานันทะ ได้ออกฉายในโรงภาพยนตร์และปรากฏสู่สายตาผู้ชมที่กระตือรือล้นทั่วโลก

    Paramahansa Yogananda Last Smile